บทบาทของผู้นำจีนต่อการผลักดันวาระแห่งการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย.๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาในการประชุมฟอรั่มเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ ๒ ที่มีหัวข้อหลักว่า “ร่วมสร้างหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพื่ออนาคตอันดีงาม” โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่มีคุณภาพในระดับสูงภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ดังที่ผู้นำจีนมีความปรารถนาจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ เม.ย.๖๒ ผู้นำจีนได้เป็นประธานการประชุมโต๊ะกลมในการประชุมฯ ดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งจากการประเมินพบว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ มีจุดเด่น ๓ ประการ ได้แก่ (๑) มีประมุขและหัวหน้ารัฐบาลต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม จำนวน ๓๗ ประเทศ ซึ่งมากกว่าการประชุมครั้งแรก เมื่อปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ที่มีเพียง ๒๙ ประเทศ (๒) มีผู้ร่วมการประชุมครั้งนี้จำนวน ๕,๐๐๐ พันคนเศษ จาก ๑๕๐ ประเทศ ซึ่งมากกว่าการประชุมครั้งแรกประมาณ ๓ เท่า เและ (๓) มีการจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีการประชุมกลุ่มย่อยใน ๑๒ หัวข้อ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมนักธุรกิจเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างช่องทางความร่วมมือสำหรับบรรดานักธุรกิจโดยเฉพาะด้วย
๒. เมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย.๖๒ ณ ตำบลหยานชิ่ง ของกรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกปักกิ่งปี ๒๐๑๙ (มี ๘๖ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย และ ๒๔ องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ และจะมีไปจนถึงวันที่ ๗ ต.ค.๖๒) โดยผู้นำจีนได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “ร่วมศึกษาวิถีชีวิตสีเขียว ร่วมพัฒนาบ้านเมืองสวยงาม” เน้นถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ปฏิบัติตามกฎหมายธรรมชาติ และอนุรักษ์ระบบนิเวศเป็นทิศทางการพัฒนาในอนาคต ขณะที่จีนยินดีร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โลกให้สวยงามยิ่งขึ้น รวมทั้งร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะการร่วมกันพัฒนา “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่จำเป็นต้องสร้างลู่ทางการพัฒนาเพื่อเปิดสู่ภายนอก และต้องเป็นลู่ทางการพัฒนาแบบสีเขียว ซึ่งในงานมหกรรมครั้งนี้ ไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ผลิตไม้ดอกไม้ผล และเชี่ยวชาญการทำสวนของเอเชีย ได้ร่วมนำเสนอการแสดงที่มีเอกลักษณ์ของไทย ให้เห็นถึงวิถีชีวิตการทำนาทำสวนแบบสีเขียวภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการจัดนิทรรศการเฉพาะด้านในแต่ละเดือน เช่น นิทรรศการดอกไม้สด นิทรรศการทุเรียน นิทรรศการผัก นิทรรศการลำไย และนิทรรศการมะม่วง เป็นต้น
บทสรุป
แม้ว่าผู้นำจีนจะมุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นอย่างมากก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ละเลยต่อการให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งเน้นให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ รวมทั้งยืนหยัดลู่ทางการพัฒนาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติ ปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เพื่อร่วมกันพัฒนาโลกที่สะอาดและสวยงาม ดังนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จึงได้เน้นย้ำว่า การร่วมกันพัฒนา “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้มีคุณภาพ จำเป็นต้องสร้างลู่ทางการพัฒนาที่เปิดสู่ภายนอกและต้องเป็นลู่ทางการพัฒนาแบบสีเขียว
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/20190425/d45db15b-5b83-884b-4e78-9e6a4288e6ad.html
http://thai.cri.cn/20190429/a92bdf01-845c-1824-b2b5-dc3d93ebf6ef.html
http://thai.cri.cn/20190429/69597f74-ef0f-a460-2c55-60e36799a1da.html
http://thai.cri.cn/20190429/68f04ca9-bb78-5ab0-5cbd-5f8f7447727e.html
http://thai.cri.cn/20190428/3307b299-7b5b-b869-44ee-dc6fa8246623.html
http://thai.cri.cn/20190428/a470b619-e259-7fb8-f4e9-bcdae7ac4299.html
http://thai.cri.cn/20190422/dad05939-6db5-9ba6-98d6-4d723d63fcf4.html