bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๐ เม.ย.๖๒ : บทบาทในการเชื่อมโยงของมณฑลยูนนาน กับแนวทางความร่วมมือต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทย

บทบาทในการเชื่อมโยงของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนกับแนวทางความร่วมมือต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายเฉิน หาว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนานและประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ มี.ค.๖๒ โดยได้เข้าพบหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๘ มี.ค.๖๒ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือไทย – ยูนนานให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นที่เป็นความสนใจร่วม

๒. สรุปผลการหารือระหว่างนายเฉิน หาว กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย
        ๒.๑ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ และย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมที่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทย จีน และมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน คมนาคม พลังงาน การเชื่อมโยง เทคโนโลยีระดับสูง เทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล นวัตกรรม สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และสุขภาพ โดยฝ่ายยูนนานได้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องและแสดงความสนใจที่จะชักชวนนักลงทุนมาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยและเชื่อมโยง EEC กับเขตพัฒนาใหม่เตียนจง (Dian Zhong New Area) ของมณฑลยูนนาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นควรให้ทั้งสองฝ่ายใช้โอกาสการประชุมคณะทำงานไทย (ภาคเหนือ) – ยูนนาน ครั้งที่ ๗ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ติดตามความคืบหน้าต่อไป
        ๒.๒ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทย – ยูนนาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเชื่อมโยงยูนนานสู่ภายนอก ตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งจะสามารถต่อยอดความเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น ลาว เมียนมา อินเดีย การเชื่อมไทย – ลาว – จีน ซึ่งไทยมีนโยบายที่จะเชื่อมโยงกับเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) ของจีนโดยมณฑลต่าง ๆ เหล่านี้มีความตื่นตัวที่จะมาหารือกับไทย
        ๒.๓ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของมณฑลยูนนานในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation – MLC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของแม่น้ำโขงที่มีความเป็นพิเศษเกินกว่าเพียงในเชิงพาณิชย์ เป็นสายน้ำแห่งชีวิต จึงขอบคุณรัฐบาลจีนโดยเฉพาะมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ได้เคยหารือกันและมีความเข้าใจร่วมกันว่า จะไม่ดำเนินโครงการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และขอขอบคุณเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนานที่มีส่วนช่วยระงับโครงการดังกล่าวด้วย เพื่อให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีคุณค่าต่อไป

บทสรุป

ความร่วมมือในการเชื่อมโยงระหว่างไทย – มณฑลยูนนานจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย – จีนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่มณฑลยูนนานเป็นหนึ่งในมณฑลกลุ่มแรกที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเดินทางเยือนในช่วงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ รวมทั้งการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ซึ่งครบ ๒๕ ปีในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ทั้งนี้ การเชื่อมโยงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านกายภาพ แต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์ในระดับประชาชนอีกด้วย จากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทลื้อในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาของมณฑลยูนนานที่มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทย ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือสู่การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อันจะขยายไปสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6885/101525-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับเลขาธิ.html 

https://www.salika.co/2018/10/24/thai-yunnan-relationship-route/ 

http://thai.cri.cn/mgh/mgh0801/htm0801/d1qcynp28-32.html

http://thai.yunnangateway.com/html/2018/recommand_1211/6706.html