bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๑ ธ.ค.๖๒ การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - แม่น้ำล้านช้าง ระหว่างนายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวั

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่น้ำโขง - แม่น้ำล้านช้าง ดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ

๒. สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวระบุว่า จีนได้อนุมัติโครงการและสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) จำนวน ๒ โครงการ จำนวนเงิน ๔,๑๖๐,๐๐๐ หยวน (ประมาณ ๑๗,๗๒๑,๖๐๐ บาท) ได้แก่
        ๒.๑ โครงการคัดกรองอาหารที่ไม่ปลอดภัยเบื้องต้น โดยอาศัยองค์ความรู้เรื่องการแยกแยะด้วยความเสี่ยง (Early detection of Unsafe Food by risk) จำนวน ๓๑๐,๐๐๐ หยวน (ประมาณ ๑,๓๒๐,๐๐๐ บาท)
        ๒.๒ โครงการนำร่องการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับในประเทศลุ่มน้ำโขง (Mekong Liver Fluke Control Initiative) จำนวน ๓,๘๕๐,๐๐๐ หยวน (ประมาณ ๑๖,๔๐๑,๐๐๐ บาท) โดยฝ่ายจีนจะจัดสรรงบประมาณให้ฝ่ายไทยภายใน ๒๐ วันทำการหลังจากที่มีการลงนาม

๓. กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง [Mekong – Lancang Cooperation (MLC) Special Fund] จัดตั้งขึ้นในคราวการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ โดยผู้นำจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก ๖ ประเทศ คือ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) และประเทศไทย จำนวน ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการเร่งด่วนซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของไทย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ จากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างเช่นเดียวกัน

บทสรุป
รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ที่มุ่งยึดถือความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังที่นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า จีนยินดีให้ความร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และพยาธิใบไม้ตับ ที่ปัจจุบันยังต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพื่อดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมโรคระบาดข้ามชาติ โดยโครงการที่ลงนามในครั้งนี้ได้แก่ Early Detection of Unsafe food by risk-based Program และ Mekong Liver Fluke Control Initiative จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และหวังว่าโครงการดังกล่าวจะประสบผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะสนับสนุนต่อบทบาทความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/20191209/8dcac1dd-511d-fbe1-3505-a341ab81fa45.html

https://www.ryt9.com/s/cabt/3063580

http://www.chinaembassy.or.th/th/sgxw/t1722866.htm

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24365