bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๕ พ.ค.๖๒ : การประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

การประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หลังจากเวลา ๐๐.๐๑ น. ของวันที่ ๑๐ พ.ค.๖๒ ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงวอชิงตัน ที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จาก ๑๐% เป็น ๒๕% ในขณะที่จีนประกาศแถลงการณ์เมื่อเวลา ๑๒.๐๓ น. ของวันที่ ๑๐ พ.ค.๖๒ ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงปักกิ่งว่า จีนจะใช้มาตรการต่อต้านที่จำเป็นเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในรายงานการวิจัยโดยบริษัท Trade Partnership Worldwide ของสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.พ.๖๒ ประเมินว่า
        ๑.๑ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสหรัฐฯ
                ๑.๑.๑ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษาสินค้านำเข้าจากจีนในมูลค่า ๒.๕ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก ๑๐% เป็น ๒๕% จะทำให้ตำแหน่งงานของสหรัฐฯ หายไป ๙.๓๔ แสนตำแหน่งภายใน ๑ ปี และรายจ่ายของครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสมาชิก ๔ คน จะเพิ่มขึ้น ๗๖๗ ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
                ๑.๑.๒ หากขึ้นภาษีสินค้าจากจีนที่เหลือทั้งหมดในมูลค่า ๓.๒๕ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก ๑๐% เป็น ๒๕% จะทำให้ตำแหน่งงานของสหรัฐฯ หายไป ๒.๑ ล้านตำแหน่งภายใน ๑ ปี และรายจ่ายของครอบครัวชาวสหรัฐฯที่มีสมาชิก ๔ คน จะเพิ่มขึ้นปีละ ๒,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
        ๑.๒ จีนจะยังสามารถรับมือกับแรงกดดันได้ โดยโครงสร้างเศรษฐกิจการอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP สูงถึง ๗๖.๒2% ขณะที่การส่งออกมีสัดส่วนใน GDP ลดเหลือเพียง ๑๗.๙ % เท่านั้น และความต้องการภายในประเทศกำลังกลายเป็นกำลังสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอนหลายอย่าง กล่าวคือ
                ๑.๒.๑ ในด้านการค้า ๔ เดือนแรกของปีนี้ ยอดมูลค่าการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ลดลง ๑๑.๒% โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง ๔.๘% และการนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลง ๒๖.๘% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนสามารถนำเข้าสินค้าจากที่อื่นทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ ได้ และระยะเดียวกัน จีนยังคงเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ๑๐.๕% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นอกจากการขึ้นภาษีจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสมดุลทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ แล้ว แต่ยังกลับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันอีกด้วย
                ๑.๒.๒ ส่วนการค้านำเข้าและส่งออกระหว่างจีนกับหุ้นส่วนการค้าสำคัญอื่น เช่น สหภาพยุโรป และอาเซียนได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะยอดมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เติบโตขึ้นถึง ๙.๑% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของการเติบโตทางการค้าที่ ๔.๘% ซึ่งหมายความว่า หุ้นส่วนทางการค้าของจีนมีความหลากหลายยิ่งขึ้น และความสามารถของจีนในการรับมือกับแรงกดดันจากภายนอกมีความเข้มแข็งขึ้น แม้สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด จีนก็ยังสามารถรับมือได้ โดยจีนสามารถยกเลิกการค้าบางส่วนกับสหรัฐฯ และนำการค้าส่วนนี้ไปทำกับประเทศในภูมิภาคอื่น

๒. ท่าทีของจีนต่อทิศทางการต่อสู้กับสหรัฐฯ
        ๒.๑ จีนรับรู้จังหวะการกระทำของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี และพยายามชี้ให้สหรัฐฯ รับทราบหลักการและจุดยืนของจีนอย่างชัดเจนว่า จีนไม่อยากก่อสงครามการค้า แต่ก็ไม่กลัว หากเมื่อจำเป็นก็ต้องต่อสู้ โดยจีนมีความยินดีที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองฝ่ายด้วยความร่วมมือ แต่อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวนั้น จะต้องมีหลักการคือ จะทำลายผลประโยชน์หลักของรัฐและของประชาชนจีนไม่ได้
        ๒.๒ ประเด็นปัญหาที่จีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการเจรจาทางเศรษฐกิจและการค้ามีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ต้องยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีทั้งหมด (๒) ตัวเลขการค้าต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และ (๓) ต้องปรับข้อตกลงให้มีความสมดุล โดยจีนจะไม่อ่อนข้อในหลักการสำคัญดังกล่าว แม้ว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการกดดันจีนเป็นอย่างไรก็ตาม
        ๒.๓ สำหรับเครื่องมือทางการค้าที่จีนอาจนำมาใช้ตอบโต้สหรัฐฯ ได้แก่ (๑) การแข่งกันขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ แม้ว่าจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น (๒) การลดค่าเงินหยวน เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (๓) การลงโทษธุรกิจสหรัฐในจีนโดยใช้ระเบียบหรือมาตรการด้านศุลกากร (๔) การชักชวนคนจีนให้คว่ำบาตรสินค้าสำคัญของสหรัฐฯ แม้ว่าอาจทำให้ชาวจีนหลายล้านคนที่ทำงานกับบริษัทอเมริกันและหุ้นส่วนในจีนต้องตกงาน (๕) การไม่ซื้อเครื่องบินโบอิ้งของสหรัฐฯ และ (๖) เทขายพันธบัตรสหรัฐฯ เนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ

๓. มีผู้สันทัดกรณีได้ตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำสงครามการค้ากับจีน เนื่องจากได้ตรวจสอบนโยบายการค้าของจีนแล้ว พบการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหลายประการ โดยเฉพาะกรณีที่มีกฎหมายห้ามต่างชาติครอบครองกิจการ ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในจีนจะต้องมีคนจีนเป็นหุ้นส่วนร่วมด้วย อันมีผลกดดันให้หลายบริษัทต่างชาติต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยี เพื่อให้สินค้านั้นเข้าสู่ตลาดจีนได้ ในขณะที่สหรัฐฯ มีความหวาดระแวงนโยบาย Made in China 2025 ที่จีนพยายามจะพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง และสินค้าที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น จนทำให้สินค้าในกลุ่มไอที ทั้ง Hardware และ Software มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ต้องการจะลดปัญหาการขาดดุลทางการค้ากับจีน รวมถึงเรื่องของการว่างงานในสหรัฐฯ ดังนั้น การเพิ่มกำแพงภาษีในมุมมองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือการเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐฯ

บทสรุป

จีนได้ประเมินว่า หากสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยมุ่งหมายที่จะขัดขวางการพัฒนาของจีน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงกว่า ๑ ปีที่ผ่านมา จีนได้รับมืออย่างเหมาะสม รวมถึงมีขีดความสามารถในการรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ จีนจะยังคงเดินหน้าสร้างบทบาทในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ด้วยการปฏิรูปและการเปิดสู่ภายนอก ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างโอกาสการพัฒนาให้มากขึ้นแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/a/201806/25/WS5b302065a3103349141de743.html 

http://thai.cri.cn/20190510/5f9c9074-6e6f-8bde-586c-38e76040c58e.html 

http://thai.cri.cn/20190513/f19410d2-2d8a-9fbf-bf63-534e4e4a72c2.html 

https://tna.mcot.net/view/5cda7944e3f8e4d2068fac25 

https://www.facebook.com/IntergoldPage/ 

https://www.youtube.com/watch?v=HDZRt4OlZvQ