ความสำเร็จของการดำเนินโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายอี้ว์ สือหยาง ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐ กล่าวว่า แม้กระแสลัทธิปกป้องการค้าสูงขึ้นในบางประเทศ แต่การค้าของจีนกับกลุ่มประเทศ BRI ได้เดินหน้าอย่างคล่องแคล่ว อันสะท้อนถึงความก้าวหน้าของโครงการ BRI และการค้าเสรี นอกจากนี้ในรายงานของศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐ (State Information Center) ยังได้ระบุถึงผลสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจว่า
๑.๑ มูลค่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศ BRI อยู่ที่ ๖๖๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ เพิ่มขึ้น ๒๐% เมื่อเทียบปีต่อปี และคิดเป็น ๓๙% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของจีน
๑.๒ มูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ BRI อยู่ที่ ๗๗๔,๒๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้น ๘.๕% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่งผลให้อัตราเติบโตของการนำเข้าแซงหน้าการส่งออกเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่โครงการบีอาร์ไอปรากฏขึ้นมาเมื่อห้าปีก่อน
๑.๓ ภาพรวมการค้าของจีนกับกลุ่มประเทศ BRI แตะหลัก ๑.๔๔ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๑๓.๔% เมื่อเทียบปีต่อปี และมีอัตราเติบโตเร็วกว่า ๕.๙% หากเปรียบเทียบกับอัตราเติบโตของการค้าทั้งหมดของจีน
๒. สำหรับผลสำเร็จทางด้านความมั่นคง พบว่าการที่รัฐบาลจีนได้ทุ่มเทหลายสิ่งหลายอย่างมายังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ภายใต้นโยบาย “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BRI เพื่อรื้อฟื้นเส้นทางการค้าโบราณ โดยไม่เฉพาะแต่การลงทุนด้านการศึกษา วัฒนธรรม และการพัฒนาพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในมณฑลที่ใหญ่ที่สุด ณ พื้นที่แห่งนี้เท่านั้น แต่ได้มาพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย และพบว่าหลังจาก ๓ ปี ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ ทำให้ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
๓. ข้อสังเกต
๓.๑ การค้าของจีนกับประเทศในเอเชียกลางมีอัตราเติบโตเร็วที่สุด รองลงมาคือยุโรปตะวันออก ส่วนประเทศอย่างเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย และรัสเซีย จัดอยู่ในกลุ่มหุ้นส่วนการค้า ๑๐ อันดับแรกของจีน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ ๗๐% ของการค้าของจีนกับกลุ่มประเทศ BRI
๓.๒ จีนส่งออกสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลแก่กลุ่มประเทศ BRI และนำเข้าสินค้าจำพวกเดียวกัน รวมถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลจากกลุ่มประเทศ BRI โดยกลุ่มบริษัทเอกชนเป็นนักค้าขายรายใหญ่ที่สุด ตามด้วยกลุ่มบริษัทที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน และรัฐวิสาหกิจจีน
บทสรุป
จีนนำเสนอโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งทาง" หรือ BRI โดยเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมโบราณ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในของจีน โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของจีนไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งลดปัญหาการก่อการร้ายจากชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานผ่านไปยังเอเชียกลางสู่ยุโรปและขยายไปสู่แอฟริกาแล้ว ยังทำให้จีนสามารถเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย อันทำให้สามารถเปิดดินแดนภาคตะวันตกของจีนออกสู่โลกภายนอก และจีนมีช่องทางในการออกทะเลเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://mgronline.com/china/detail/9610000047010
https://mgronline.com/china/detail/9590000059051
https://mgronline.com/china/detail/9590000060171
https://www.adviservoice.com.au/2017/06/cpd-aboard-new-silk-road/