bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๗ ก.ค.๖๒ วิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาในจีน

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. พระพุทธศาสนาแผ่เข้าจีนในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายสมัยราชวงศ์ซีฮั่น (ฮั่นตะวันตก ๒๐๖ ก่อน ค.ศ. - ค.ศ.๒๕) ต้นราชวงศ์ตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก ค.ศ.๒๕ – ค.ศ.๒๒๐) ทั้งนี้ เพราะนักโบราณคดีได้ขุดพบพระพุทธรูปในสมัยนี้หลายแห่งด้วยกัน เช่น พระพุทธรูปที่ภูเขาเผิงซัน มณฑลเสฉวน พระพุทธรูปที่ภูเขาข่งอ้วงซัน มณฑลเจียงซู เป็นต้น เชื่อกันว่าพระพุทธศาสนาจากอินเดียได้เผยแพร่เข้าสู่ลุ่มน้ำสินธุและเอเชียกลางในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้ส่งคณะพระธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในบริเวณแคว้นคันธาระทางตอนเหนือของปากีสถาน และแคว้นแคชเมียร์ โดยพระพุทธศาสนิกายมหายานได้ข้ามผ่านเทือกเขาฮินดูกูช ประเทศอัฟกานิสถาน และที่ราบสูงคาราโครามเข้าสู่ประเทศจีนที่เมืองคาชการ์ (KASH-GAR) ตามเส้นทางสายไหม

๒. ศาสนาพุทธได้เริ่มเผยแพร่เข้าสู่จีนกลาง โดยเฉพาะในราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในยุคสมัยองค์จักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ ที่ได้ส่งราชทูต ๒ คนออกไปทางทิศตะวันตก จากนครลั่วหยางไปจนถึงอาณาจักรของพวกเยว่ซื่อ โดยได้รวบรวมพระพุทธรูป และคัมภีร์พระศาสนา อัญเชิญขึ้นบนม้าขาวพร้อมทั้งนิมนต์พระภิกษุอินเดีย ๒ รูป คือพระกาศยปมาตังคะ และพระธรรมอรัญญะ กลับมานครลั่วหยาง ในปี ค.ศ. ๖๘ ซึ่งจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ทรงโปรดให้สร้างวัดเพื่อให้พระภิกษุต่างชาติทั้ง ๒ รูปนี้ได้พำนักอาศัย และใช้เป็นสถานที่แปลพระไตรปิฏก และปดิษฐานพระพุทธรูป วัดนี้มีชื่อว่า ไป๋หม่าซื่อ หรือ วัดม้าขาว เพื่อเป็นการรำลึกถึงม้าขาวที่ได้เป็นพาหนะพาพระภิกษุ และพระคัมภีร์มาแต่ไกล ทั้งนี้ พุทธศาสนาแผ่เข้าในจีนได้ผ่านวิวัฒนาการอย่างสลับซับซ้อนถึง ๓ ระยะด้วยกัน คือ
(๑) ระยะแรก เป็นระยะที่อาศัยวัฒนธรรมจีนเป็นทุ่นเกาะ เพื่อประคองตัวเองให้ปักหลักลงได้บนผืนแผ่นดินจีน แล้วค่อย ๆ เผยแผ่ออกไป
(๒) ระยะที่สอง เป็นระยะที่เกิดภาวะขัดแย้งและปะทะกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนอย่างรุนแรง
(๓) ระยะที่สาม เป็นระยะที่เป็นที่ยอมรับและกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของจีน

๓. นักพุทธศาสตร์จีนในปัจจุบัน ลงความเห็นว่า
        ๓.๑ การที่พระพุทธศาสนาเมื่อแรกแผ่เข้าไปนั้นต้องอาศัยวัฒนธรรมจีนเป็นทุ่นเกาะ เพื่อให้ตัวเองสามารถเผยแผ่ออกไปได้นั้น เป็นกฎทั่ว ๆ ไปในการแทรกซึมของวัฒนธรรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง การที่ศาสนาใหม่ศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะศาสนาต่างชาติเมื่อแผ่เข้าไป จะให้ศาสนธรรมหรือปรัชญาของตนเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่ชนที่แปลกใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของทุกชาติ ล้วนมีด้านที่จะอนุรักษ์ คุ้มครองตนเองและต่อต้านสิ่งที่เข้าไปใหม่อยู่ในตัวเองเป็นวิสัย ดังนั้น ผู้เผยแผ่จะต้องสันทัดในการปรับปรุงสิ่งที่นำเข้าไปใหม่ ให้สอดคล้องกับแนวความคิดและความต้องการของผู้คนในดินแดนแห่งนั้น ทั้งยังต้องทำให้หมู่ชนนั้นเชื่อว่า การเสาะแสวงหาของตนมีหนทางเป็นจริงขึ้นได้ ศาสนานั้นจึงจะสามารถสร้างศรัทธาขึ้นในหมู่ชนเหล่านั้นและเป็นที่ยอมรับในที่สุด ซึ่งภายหลังจากพระพุทธศาสนาเข้าสู่จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว ก็ได้ถูกกลืนเป็นแบบจีน และผสมผสานเข้ากับความเชื่อทางศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธศาสนาของจีน ในสมัยราชวงศ์หมิงและสมัยราชวงศ์ชิง
        ๓.๒ การที่พระพุทธศาสนาสามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนได้สำเร็จ เกิดจากปัจจัย ๒ ประการคือ ประการที่หนึ่ง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาใหญ่และมีปรัชญาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก "จิตแห่งธรรมและจิตแห่งวัตถุ" ในพุทธปรัชญานั้น มีหลายๆ สิ่งที่วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนไม่มี และในระหว่างที่เผยแผ่ตัวเองอยู่นั้น พระพุทธศาสนาสามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนให้คงอยู่ได้อย่างมั่นคง และมีบทบาทในการเติมเต็มสิ่งที่วัฒนธรรมจีนยังขาดตกบกพร่องอยู่ให้สมบูรณ์ ส่วนประการที่สอง พระพุทธศาสนาสามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของสังคมจีน ทำให้ชาวท้องถิ่นยอมรับการดำรงอยู่ของตน แล้วจึงค่อยๆ แทรกซึมเข้าไป จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน

บทสรุป
ปัจจุบันรัฐบาลจีนยึดมั่นหลักการที่ว่า ศาสนาในประเทศจีนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับจีน รวมทั้งจะจัดสรรแนวทางให้กับศาสนาต่างๆ เพื่อปรับตัวเข้าหาสังคมที่เป็นระบอบสังคมนิยม ดังจะเห็นได้จากสมุดปกขาวซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของรัฐ (State Council Information Office - SCIO) ภายใต้หัวข้อ “นโยบายและแนวทางปฏิบัติ ว่าด้วยการปกป้องเสรีภาพความเชื่อทางศาสนาของจีน” เมื่อวันที่ ๓ เม.ย.๖๑ ระบุว่า ในฐานะที่เป็นประเทศสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ประเทศจีนได้ออกนโยบายต่อเสรีภาพการนับถือศาสนาของประชาชนโดยเป็นไปตามเงื่อนไขของประเทศและศาสนา คือจะปกป้องสิทธิของประชาชนให้มีเสรีภาพด้านความเชื่อทางศาสนา สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและมีศักยภาพกับศาสนา รวมทั้งรักษาความปรองดองในสังคมและศาสนา โดยผู้ศรัทธาในศาสนาและผู้ที่ไม่ศรัทธาจะต้องเคารพกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง ยอมรับฉันทามติเพื่อการปฏิรูปเปิดประเทศและสังคมนิยมที่ทันสมัย เพื่อนำพาประชาชาติจีนบรรลุความฝันของจีน (China Dream) ในการฟื้นฟูประเทศและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.chinahighlights.com/travelguide/buddhism.htm

http://thai.cri.cn/441/2012/04/19/242s197058.htm

https://www.silpa-mag.com/history/article_15085

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=35&chap=1&page=t35-1-infodetail04.html

https://ko-kr.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/posts/2065752496974095

https://www.youtube.com/watch?v=G1msGjpkGsw