bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๗ มิ.ย.๖๓ สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน จากการฟื้นตัวโดยรวมของตัวชี้วัดที่สำคัญในเดือน พ.ค.๖๓

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๗ มิ.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน จากการฟื้นตัวโดยรวมของตัวชี้วัดที่สำคัญในเดือน พ.ค.๖๓ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (中国国家统计局) แถลงเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๖๓ ว่า ในเดือน พ.ค.๖๓ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน (中国经济的积极迹象) จากการฟื้นฟูการผลิต การกลับสู่ตำแหน่งงาน การกลับมาเปิดธุรกิจ และการเปิดตลาดหลังโรคระบาดในจีน โดยได้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง และการดำเนินการของเศรษฐกิจจีนรักษาแนวโน้มการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ
     ๑.๑ ในด้านการผลิต ยอดมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมระดับมาตรฐานและสูงกว่าของจีนนั้น เติบโตอยู่ที่ ๔.๔% อัตราการเติบโตสูงกว่าเดือน เม.ย.๖๓  ๐.๕% ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรและอุตสาหกรรมการผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีระดับสูงเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว โดยในเดือน พ.ค.๖๓ ดัชนีการผลิตของอุตสาหกรรมการบริการขยายตัว ๑% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขในเดือน เม.ย.๖๓ ลดลง ๔.๕% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว
     ๑.๒ ในด้านอุปสงค์ช่วงเดือน พ.ค.๖๓ ที่ผ่านมา ยอดการค้าปลีกของสิ่งของอุปโภคบริโภคลดลง ๒.๘% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอัตราเติบโตเป็นลบ ลดลง ๔.๗% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และในช่วง ๕ เดือนแรกของปีนี้ ยอดการลงทุนต่อสินทรัพย์ถาวรหดตัวลง ๖.๓% แต่อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนิวไฮเทคกับการลงทุนต่อกิจการสังคมเปลี่ยนจากลบมาเป็นบวก
     ๑.๓ ในด้านการมีงานทำ เดือน พ.ค.๖๓ อัตราการว่างงานทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศอยู่ที่ระดับ ๕.๙% ลดลง ๐.๑% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

๒. ข้อสังเกตต่อเศรษฐกิจของจีน (中国经济观察)
     ๒.๑ ตัวเลขในด้านการผลิต ด้านอุปสงค์ และด้านการมีงานทำดังกล่าว ล้วนแสดงให้เห็นว่า การฟื้นการผลิตและการทำงานของจีนกำลังเร่งอัตราเร็วขึ้น ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกโดยตรงของผู้คน ทำให้ในตัวเมืองเริ่มมีรถติด รวมทั้งผู้คนออกไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารกันมากขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ค่อยๆ ฟื้นกลับเป็นปกติแล้ว โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น เกิดจากความต้องการในตลาดที่มีพลัง การพัฒนาอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมือง รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากฝ่ายต่างๆ ดังนั้น ประสบการณ์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนย่อมจะเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ได้ จากการที่จีนได้ก้าวพ้นผลกระทบของโควิด-๑๙ เป็นประเทศแรก
     ๒.๒ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund หรือ 国际货币基金组织) เคยกล่าวเน้นในการประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน จีนกำลังเร่งฟื้นฟูการผลิตและการทำงาน ซึ่งไม่เพียงแต่พลิกจากวิกฤตไปสู่การฟื้นฟูเท่านั้น หากยังแสดงถึงการมีความรู้ ความเป็นมืออาชีพ และประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบแก่ประเทศอื่น จากสัดส่วนของเศรษฐกิจจีนที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผลการพัฒนาเศรษฐกิจในปี ๒๐๒๐ จะมีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งประเทศจีนและทั่วโลก

บทสรุป

 
แม้ว่าจะมีรายงานชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จะทำให้เศรษฐกิจของจีนลดลง ๖.๘% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และเป็นการเติบโตติดลบรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่การจัดตั้งระบบบัญชี GDP (GDP核算) รายไตรมาส เมื่อปี ๑๙๙๒ (พ.ศ.๒๕๓๕) อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคอยู่ภายใต้การควบคุม ในขณะที่การผลิตของจีนยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งหลังจากไตรมาสที่สองเศรษฐกิจของจีนจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังฟื้นตัว และคาดว่าจะยังคงรักษาแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (世界经济复苏) อีกครั้ง

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์