bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๘ ก.ค.๖๑ : มุมมองของจีนต่อปัญหาสงครามการค้าที่สหรัฐฯ

มุมมองของจีนต่อปัญหาสงครามการค้าที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายก่อขึ้น และแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.๖๑ กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ชี้แจงและตอบโต้สหรัฐอเมริกากรณีกล่าวหาจีนในรายงานผลการตรวจสอบตามมาตรา ๓๐๑ และรายงานฉบับอื่นๆ ว่า “การค้าจีน-สหรัฐฯ ขาดความสมดุล” มี "การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา" มี "การบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี" และ "เมด อิน ไชน่า ๒๐๒๕" ซึ่งจีนโต้ว่า สหรัฐฯ "บิดเบือนความเป็นจริง และไม่มีมูลความจริง" กล่าวคือ
        ๑.๑ สำหรับประเด็นแรกที่ว่า การค้าขาดดุลนั้น กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า สาเหตุหลักของประเด็นนี้อยู่ที่ "อัตราการออมเงินภายในประเทศสหรัฐฯ ต่ำเกินควร และเงินดอลล่าสหรัฐฯ เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก" ตลอดจน "สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีไฮเทคที่มีความได้เปรียบ เนื่องจากยึดแนวคิดสงครามเย็น"
        ๑.๒ ประเด็นที่สอง สิ่งที่เรียกว่า "การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญหา" นั้น ก็ไม่มูลความจริงทั้งสิ้น ปัจจุบัน จีนคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญหาทุกสาขา ทั้งลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ความลับทางการค้า ตราสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ พันธุ์พืชชนิดใหม่ การออกแบบผังวงจรไฟฟ้ารวม (ไอซี) นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญหาจากกฎหมายหลายระดับ ขณะเดียวกัน จีนยังชำระเงินซื้อสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปี ๒๐๐๑ (พ.ศ.๒๕๔๔) แล้ว มีจำนวนมากขึ้นปีละ ๑๗% โดยในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) มีมูลค่าการซื้อขายมากถึง ๒๘,๖๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
        ๑.๓ ประเด็นที่สาม สิ่งที่เรียกว่า "การบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี" นั้น เป็นเพียง "ข่าวลือ" ทั้งสิ้น โดยจีนไม่ได้บัญญัติกฎข้อบังคับใดว่าผู้ประกอบการต่างชาติจะต้องถูก "บังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี" เมื่อเข้ามาสู่จีน
        ๑.๔ ประเด็นสุดท้าย แผนปฏิบัติการ "เมด อิน ไชน่า ๒๐๒๕" (Made in China 2025) และนโยบายอื่นๆ ที่สหรัฐฯ กล่าวหานั้น ผู้ทรงความรู้ระบุไว้ตั้งแต่ต้นว่า รายงานผลการตรวจสอบตามมาตรา ๓๐๑ ของสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้ง (Suppress) การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของจีน ซึ่งแก่นแท้คือการยับยั้งการพัฒนาของจีน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการ "เมด อิน ไชน่า ๒๐๒๕" เป็นแผนการพัฒนาที่ยึดหลักการตลาดมีบทบาทเป็นแกนนำ เปิดเสรี และผนึกรวม ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้ชี้แนะและผู้ให้แนวทาง โดยผู้นำจีนย้ำหลายครั้งว่า "เมด อิน ไชน่า ๒๐๒๕" จะปฏิบัติต่อผู้ประกอบการจีนและต่างประเทศเท่าเทียมกัน และยินดีต้อนรับผู้ประกอบการต่างชาติมาร่วมภาคการผลิตของจีน

๒. ภายหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการต่างๆ อันเป็นการประกาศสงครามการค้ากับจีน ได้มีความเคลื่อนไหวของนักธุรกิจสหรัฐฯ เดินทางมาเจรจาความร่วมมือที่จีนจำนวนมาก เช่น
       ๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ค.๖๑ บริษัทเทสลา (Tesla) ซึ่งเป็นบริษัทยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงการลงทุนโครงการยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากับนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งระบุว่า จะตั้งสาขาโรงงานในต่างประเทศแห่งแรกที่จีน
       ๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ค.๖๑ นายกเทศมนตรีเมืองชิกาโกสหรัฐฯ นำคณะผู้แทนเศรษฐกิจและการค้าชุดใหญ่เยือนกรุงปักกิ่ง ร่วมลงนามกับจีนใน "โครงการความร่วมมือกิจการสำคัญระยะ ๕ ปี (๒๐๑๘ - ๒๐๒๓ หรือ พ.ศ.๒๕๖๑ - ๒๕๖๖)" ซึ่งระบุว่า จะดำเนินความร่วมมือด้านการรักษาพยาบาล การบำรุงสุขภาพ การผลิตสมัยใหม่ เทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการทางการเงิน การเกษตรกับอาหาร และโครงสร้างพื้นฐาน นับเป็นโครงการ ๕ ปีฉบับแรกที่ทำขึ้นระหว่างทางการท้องถิ่นของจีนกับสหรัฐฯ

๓. ข้อสังเกต แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาสงครามทางการค้า
       ๓.๑ นายทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของบริษัทแอปเปิล แสดงความเห็นว่า จีนและสหรัฐฯควรยึดหลักการค้าเสรี โดยร่วมกันทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซีอีโอของบริษัท แอปเปิลยังกล่าวว่า จากประสบการณ์ของเขาเองพบว่า ประเทศที่ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ และการค้าเสรีจะประสบความสำเร็จ ส่วนประเทศที่กระทำในทางตรงกันข้ามจะล้มเหลว หากจีนและสหรัฐฯร่วมมือกัน จะให้ผลลัพท์ในลักษณะหนึ่งบวกหนึ่งใหญ่กว่าสาม ด้วยเหตุนี้ สองประเทศจึงควรทำตลาดให้ใหญ่ขึ้น แต่ไม่ใช่ไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
       ๓.๒ ศาสตราจารย์ ลอเรนซ์ เอช ซัมเมอร์ (Lawrence H. Summers) ประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯมีความสำคัญยิ่ง ความยิ่งใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ อยู่ที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเคารพระบอบการบริหารประเทศของอีกฝ่าย จีนและสหรัฐฯจึงต้องร่วมมือกันในประเด็นที่สนใจร่วมกัน วางกฎระเบียบที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมรับ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางพาณิชย์ โดยเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ สามารถสร้างความดีงามให้แก่โลกมากขึ้น แต่หากทำสงครามการค้า โดยตอบโต้กันอย่างตาต่อตา ฟันต่อฟันแล้ว ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันได้
       ๓.๓ นายปัสคาล ลามี (Pascal Lamy) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกกล่าวระหว่างการประชุมว่า ลัทธิกีดกันทางการค้าไม่เป็นวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา การพูดคุยหารือ และความร่วมมือจึงเป็นวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา

บทสรุป

ในขณะที่จีนกำลังเผชิญหน้ากับสงครามการค้าอันเกิดจากการกระทำของสหรัฐฯ ซึ่งจีนได้คัดค้านพฤติกรรมของลัทธิครองความเป็นเจ้าและข่มขู่ทางการค้าของสหรัฐฯ โดยจีนได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันต่อต้าน เพื่อเอาชนะ "สงครามต่อต้านการก่อการร้ายทางการค้า” ที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับความเสียหาย จากมาตรการกีดกันทางการค้า การปิดตลาด และการปกป้องทางการค้า ซึ่งนานาประเทศต่างก็เห็นพ้องกันว่า ไม่ใช่วิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดี พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนกับสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยเจรจาหารือและร่วมมือกันในการกำหนดกฎระเบียบอันเป็นที่ยอมรับได้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://thai.cri.cn/247/2018/07/13/233s268924.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/07/12/233s268903.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/06/20/121s268175.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/03/25/223s265626.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/07/13/223s268943.htm