bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๘ ก.ย.๖๒ ข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของจีนให้พัฒนาอย่างมีคุณภาพ


ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน พบว่า ความต้องการภายในประเทศของจีนมีศักยภาพสูงในช่วง ๘ เดือนแรกของปีนี้ รวมไปถึงเศรษฐกิจมีการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคง ทั้งนี้ มาจากมาตรการของรัฐบาลจีนที่เอื้อประโยชน์ต่อนโยบายต่างๆ เช่น การลดภาษี การลดค่าประกันทางสังคมแก่วิสาหกิจ การลดรายการต้องห้ามสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ การสร้างเขตสาธิตตัวอย่างที่เมืองเซินเจิ้น เขตใหม่บริเวณใกล้ท่าเรือของเขตการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ ตลอดจนการเพิ่มเขตการค้าเสรีอีก ๖ แห่ง เป็นต้น

๒. รัฐบาลจีนได้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ ๔ ก.ย.๖๒ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมฯ ได้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือ “การสร้างความมั่นคง ๖ ด้าน” ได้แก่
        (๑) สร้างความมั่นคงด้านการมีงานทำ
        (๒) ด้านการเงิน
        (๓) ด้านการค้าต่างประเทศ
        (๔) ด้านทุนต่างประเทศ
        (๕) ด้านการลงทุน
        (๖) ด้านการคาดการณ์
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการเร่งรัดให้ทางการท้องถิ่นออกพันธบัตรเฉพาะกิจเพื่อนำไปใช้ ตลอดจนกระตุ้นการลงทุนที่ได้ผลจริงเพื่อขยายอุปสงค์ภายในประเทศ

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ การที่รัฐบาลจีนมุ่งเน้นความพยายามในการสนองความต้องการชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่นับวันจะมีมาตรฐานสูงขึ้น และพัฒนาให้กลายเป็นตลาดภายในที่มีศักยภาพ โดยให้ความสำคัญด้านเทคนิค เพื่อตลาดที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และต้องยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมเก่า เพื่อตลาดที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งต้องบ่มเพาะพลวัตใหม่ เพื่อตลาดที่มีโอกาสเติบโตเร็ว และต้องโฟกัสแต่ละวงการที่สำคัญ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพยายามขยายจุดเติบโตใหม่ของการบริโภค อันเป็นตลาดที่มีอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมว่าด้วยการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ที่ได้จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ ธ.ค.๖๑
        ๓.๒ การที่วิสาหกิจจีน ได้ยืนหยัดการพัฒนาด้วยพลังของนวัตกรรมและเร่งปรับปรุงโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นภายในต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้ในรายชื่อบริษัท ๕๐๐ อันดับแรกของนิตยสาร FORTUNE ประจำปี ๒๐๑๙ มีจำนวนวิสาหกิจจีนมากกว่าบริษัทสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่มั่นคง โดยรัฐบาลจีนจะยังคงใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคต

บทสรุป
ผลจากการที่รัฐบาลจีนมุ่งดำเนินงาน “สร้างความมั่นคง ๖ ด้าน” ซึ่งเป็นมาตรการที่ชัดเจนในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยใช้เครื่องมือนโยบายการปรับวัฏจักรเศรษฐกิจ (counter-cyclical adjustment policy tools) และการใช้มาตรการอย่างตรงจุด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยืนหยัดแนวคิดมีส่วนรวมกำหนดนโยบายมหภาคให้มีความมั่นคง นโยบายจุลภาคให้มีความยึดหยุ่น นโยบายสังคมมีหลักประกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งเน้นการปฏิบัติงานให้ดีเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคง ทั้งในด้านการมีงานทำ ด้านการเงิน ด้านการค้าต่างประเทศ และด้านการลงทุน อันจะทำให้สังคมเกิดสมานฉันท์และมีเสถียรภาพ ถือเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของจีนให้พัฒนาอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมในการร่วมเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ ๗๐ ปี ในปีนี้

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.wisdomtree.eu/en-gb/blog/2018-09-11/china-counter-cyclical 
http://thai.cri.cn/20190917/9e3642cb-fd8b-e407-b9f7-7d4c585d3c9b.html 
http://thai.cri.cn/20190905/d4b92a2c-1cb2-8a73-f502-4a61dd59cf4e.html 
http://thai.cri.cn/20190824/755ec328-4624-84b8-c483-f69fe890ed3e.html 
http://thai.cri.cn/20181223/16991ead-20fb-9440-13a0-b01f6a1d3ba5.html 
https://www.chinadailyhk.com/articles/91/147/210/1545916121457.html