bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒ ม.ค.๖๒ : นัยสำคัญทางสถิติของจีนในรอบปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ที่ผ่านไป ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่องในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)

นัยสำคัญทางสถิติของจีนในรอบปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ที่ผ่านไป ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่องในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)

๑. China Media Group ได้สำรวจ ๑๐ อันดับเมืองสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีที่สุดของจีน โดยพิจารณาจากระบบการประเมินผลรวมของเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การเริ่มต้นธุรกิจ ความพร้อมของสินเชื่อ การแบ่งปันทรัพยากร ภาษีและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า อันดับ ๑ คือ กรุงปักกิ่ง ส่วนอันดับ ๒ - ๑๐ เรียงตามลำดับได้แก่ มหานครเซี่ยงไฮ้ นครเสิ่นเจิ้น นครกว่างโจว มหานครฉงชิ่ง นครเฉิงตู มหานครเทียนจิน นครหางโจว นครหนานจิง นครซีอาน โดยมีข้อสังเกตว่า กรุงปักกิ่งทำคะแนนเป็นอันดับหนึ่งครั้งแรกในด้านนวัตกรรม ในขณะที่มหานครเซี่ยงไฮ้ยังโดดเด่นในการเป็นศูนย์การเงินของประเทศ ส่วนนครเสิ่นเจิ้นจัดเป็นเมืองที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยและน่าอยู่นับตั้งแต่ ปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) เป็นต้นมา

๒. กลุ่มสื่อจีนได้รายงานว่า ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport) ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ๑๙๕๘ (พ.ศ.๒๕๐๑) และได้กลายเป็นท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกตั้งแต่ปี ๒๐๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๓) โดยมีสถิติการต้อนรับผู้เดินทางทั่วสารทิศในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) จำนวนมากกว่า ๑๐๐ ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี ๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๕๒๑) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง มีผู้โดยสารเพียงจำนวน ๑.๐๓ ล้านคน ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยด้วยอัตราร้อยละ ๑๒.๑ ต่อปี นอกจากนี้ จำนวนการขนส่งสัมภาระก็เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มีจำนวนการขนส่งกว่า ๒ ล้านเมตริกตัน หากเปรียบเทียบกับปี ๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๕๒๑) ที่มีเพียง ๓๔,๐๐๐ ตัน นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง สร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจในภูมิภาคในช่วงปี ๒๐๐๗ – ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๖๐)เป็นเงินจำนวน ๑.๔ แสนล้านหยวน หรือราว ๗.๕ แสนล้านบาท และสร้างงานกว่า ๖๑๑,๐๐๐ ตำแหน่ง

บทสรุป

ปัจจุบัน กรุงปักกิ่งกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างสนามบินแห่งใหม่คือ “ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งต้าซิง” ซึ่งได้รับการออกแบบโดย ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกหญิงชาวอิรัก-อังกฤษ ด้วยงบประมาณการก่อสร้างมหาศาลกว่า ๑๒.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเตรียมเปิดให้บริการเดือน ก.ย. ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะเชื่อมต่อมายังสนามบินจะเริ่มให้บริการในเดือน พ.ค. ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ในขณะที่การรถไฟแห่งประเทศจีนได้คาดการณ์ถึงจำนวนการเดินทางด้วยรถไฟในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ซึ่งจะตรงกับวันที่ ๕ ก.พ.๖๒ ที่จะต้องรองรับผู้โดยสารในช่วง ๔๐ วัน (๒๑ ม.ค. – ๑ มี.ค.๖๒) จำนวนราว ๔๑๓.๓ ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๓ หรือ ๓๑.๘ ล้านคน ในขณะที่มีแรงงานต่างถิ่นในประเทศจีนราว ๒๗๗.๕ ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน ๓๖ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในประเทศทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า รัฐบาลจีนได้เตรียมการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจจากข้อมูลทางสถิติที่มีนัยสำคัญดังกล่าวแล้ว

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://usa.chinadaily.com.cn/a/201812/28/WS5c2555e6a310d91214051585.html

https://mgronline.com/china/detail/9610000128801

https://mgronline.com/china/detail/9610000129457

https://mgronline.com/china/detail/9610000126939

https://en.wikipedia.org/wiki/Beijing_Daxing_International_Airport

http://www.china.org.cn/china/2018-12/24/content_74306528.htm