จีนศึกษา (วันพุธที่ ๒๒ ก.พ.๖๖) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมฟอรั่มการพัฒนาและประชากรจีน ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๑ ก.พ.๖๖ ซึ่งศูนย์วิจัยการพัฒนาและประชากรจีนได้เผยแพร่ “ผลสำรวจสุขภาพคนชราและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของครอบครัวจีน” ผลการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุมีความพอใจกับชีวิตและลูกหลานมีความกตัญญูดี
การสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุของจีน ซึ่งดำเนินการร่วมกันโดยศูนย์วิจัยการพัฒนาและประชากรจีน ร่วมกับศูนย์วิจัยการพัฒนาประเทศของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสมาคมนโยบายครอบครัวจีน โดยได้สำรวจความคิดเห็นของคนชรา รวมถึงผู้ที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปด้วย โดยคนชราที่อายุมากกว่า ๘๐ ปี มีสัดส่วนคิดเป็น ๗๑.๒% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ในบรรดาผู้สูงอายุที่สำรวจ ๒.๙% อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ๑๙.๖% อยู่คนเดียว ๔๑.๘% อาศัยอยู่กับลูกชาย และ ๔๕% อยู่คนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรส และมีคนชรากว่า ๘๐% ได้รับการดูแลโดยสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีกว่าครึ่งหนึ่งได้รับการดูแลจากลูกชายและลูกสะใภ้ ส่วนผู้ที่ใช้บริการดูแลจากสังคมและองค์กรสงเคราะห์คนชรามีสัดส่วนเป็น ๕.๓๒% และการดูแลโดยพี่เลี้ยงประมาณ ๕.๔๔% โดยเฉพาะผู้มีอายุก่อนอายุ ๘๐ ปีได้รับการดูแลหลักจากคู่สมรส แต่หลังจากอายุ ๘๐ ปี สัดส่วนได้รับการดูแลจากลูกและหลานเพิ่มขึ้นและสัดส่วนการดูแลจากคู่สมรสได้ลดลง
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงจากดิจิทัลต่อชีวิตของผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น โดยผู้สูงอายุอายุ ๖๕ - ๖๙ ปี มากกว่า ๕๐% ใช้สมาร์ทโฟนและ ๑.๓% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปียังคงใช้สมาร์ทโฟน โดยพบว่าผู้สูงอายุ ๘๒.๒% ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อวิดีโอแชท และ ๕๕.๕% ใช้เพื่อความบันเทิง เช่น ดูข่าว ดูภาพยนตร์และรายการทีวี
นางเฮ่อ ตัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชากรและการพัฒนาแห่งประเทศจีนกล่าวว่า ตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยการพัฒนาและประชากรจีน พบว่าจำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า ๘๐ ปีในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าภายในปี ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) ซึ่งหมายความว่าประเทศจีนได้เข้าสู่ยุคของผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาว
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://finance.sina.cn/2023-02-12/detail-imyfkwmw2440435.d.html?oid=3901789025835867&vt=4 และเว็บไซต์ https://www.worldjournal.com/wj/story/121343/6967799?zh-cn )