bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๒ พ.ค.๖๒ : การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศจีนประจำปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)

การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศจีนประจำปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๖ พ.ค.๖๒ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค.๖๒ ได้มีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศจีนประจำปี ๒๐๑๙ ขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ทหารแห่งการปฏิวัติของประชาชนจีน ในกรุงปักกิ่ง โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีหัวข้อหลักคือ “เทคโนโลยีสร้างสรรค์ประเทศให้เข้มแข็ง เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่มวลชน” โดยได้นำเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาจัดแสดง พร้อมจัดกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอันหลากหลาย โดยมีเนื้อหานิทรรศการทั้งหมดมีจำนวน ๔๑๐ รายการ ครอบคลุมถึงเนื้อหาหลัก ๔ ด้านได้แก่ (๑) ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเทคโนโลยี (๒) การสัมผัสกับชีวิตอันดีงาม (๓) การบริหารเพื่อพัฒนาชนบท และ (๔) ผลงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนำความสะดวกแก่ประชาชน

๒. จีนให้ความสำคัญกับการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เนื่องจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศว่า จะสร้างจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ให้ได้ในกลางศตวรรษที่         ๒๑ ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประกาศนโยบาย Made in China 2025 เพื่อให้มุ่งสู่เป้าหมายในการบรรลุความเป็นประเทศอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงภายใน ๑๐ ปี นับจากปี ๒๐๑๕ ซึ่งหัวใจสำคัญของนโยบายนี้คือ การแสวงหาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่ให้ผลกำไรดีและพุ่งเป้าหมายไปที่ความสามารถในการเป็นผู้กุมทิศทางของอุตสาหกรรมนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายให้จีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมของโลก ภายในปี ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) จึงมีการอัดฉีดงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศทั้งหมดให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค สร้างห้องทดลองอวกาศเทียนกง ยานดำน้ำสำรวจทะเลลึก ผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ สร้างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Baidu, Alibaba และ Tencent ซึ่งเทียบได้กับ Google, eBay และ Facebook ของสหรัฐฯ เป็นต้น

บทสรุป

การที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เห็นความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีประจำปี เนื่องจากได้ตั้งเป้าหมายให้จีนต้องยืนหยัดในหนทางการสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ของจีน หลอมรวมกับการประดิษฐ์คิดสร้างนวัตกรรมของโลก โดยเข้าร่วมการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของโลก และใช้ภูมิปัญญาจีนผลักดันการสร้างมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องจากภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหาด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้โดยลำพังฝ่ายเดียว ดังนั้น จีนจึงแสดงท่าทีในการมุ่งสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น กรณีที่จีนให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับอาเซียน โดยการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ) เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเป็นสาขาแรกของจีนในต่างประเทศ เพื่อปลุกปั้นบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/a/201905/19/WS5ce12b7da3104842260bc7b4_2.html 

http://thai.cri.cn/20190520/3eb39a75-e255-af39-2d9e-4df76071e398.html

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642950 

http://thai.china.com/news/economy/1048/20181003/1391771.html 

https://www.posttoday.com/aec/scoop/530606 

https://www.ryt9.com/s/prg/2755899 

http://www.thansettakij.com/content/240924