bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๓ มิ.ย.๖๔ จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของจีนในยุคใหม่ (ตอนที่ ๑)

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๓ มิ.ย.๖๔ จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของจีนในยุคใหม่ (ตอนที่ ๑)  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 
๑. ในปี ค.ศ.๑๙๔๔ (พ.ศ.๒๔๘๗) พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เรียนรู้ว่า สหรัฐฯ กำลังสร้าง "ซูเปอร์บอมบ์" (“超级炸弹”) ดังนั้น ตั้งแต่ปี ๑๙๔๖ (พ.ศ.๒๔๘๙)  พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ติดต่อนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเลโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์และผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดต่อสู้เพื่อให้กลับมายังประเทศจีน รวมทั้งเข้าร่วมพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนอุปกรณ์การวิจัยและการจัดซื้ออุปกรณ์อีกทั้งวัสดุที่จำเป็นสำหรับการวิจัยฟิสิกส์นิวเคลียร์ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานเหมา เจ๋อตง (毛泽东主席) อย่างไรก็ตาม มีบันทึกว่า ประธานเหมา เจ๋อตง ได้เสนอแนะการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของจีนอย่างชัดเจนในครั้งแรกเมื่อปลายปี ๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) เมื่อประธานเหมา เจ๋อตงไปเยือนสหภาพโซเวียต ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ ส.ค. ปี ๑๙๔๙ สหภาพโซเวียตได้มีระเบิดปรมาณูลูกแรก และเมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ปี ๑๙๔๙ สหภาพโซเวียตได้เป็นผู้นำในการรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาในปี ๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๙๓) จีนและสหภาพโซเวียตได้ลงนามใน "สนธิสัญญามิตรภาพ พันธมิตรและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างจีน-โซเวียต" (“中苏友好同盟互助条约”)
 
๒. เมื่อวันที่ ๑๕ ม.ค. ปี ๑๙๕๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) การประชุมใหญ่ของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตัดสินใจพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์และพัฒนาระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นการประชุมลับ โดยประธานเหมา เจ๋อตง เป็นประธานในการประชุมใหญ่ที่สวนเฟิงเจ๋อหยวน (丰泽园) ในทำเนียบจงหนานไห่ (中南海驻地) เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของจีน โดยมีนายหลิว เส้าฉี นายโจว เอินไหล จอมพลจู เต๋อ นายเฉิน หยุน นายเติ้ง เสี่ยวผิง นายเผิง เต๋อหวย นายเผิง เจิน นายเป๋า อีโปและคนอื่นๆ เข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมได้ฟังนายเฉียน ซันเฉียง นักฟิสิกส์ชื่อดัง แนะนำฟิสิกส์นิวเคลียร์ และนายหลี่ ซื่อกวง นักธรณีวิทยา แนะนำเกี่ยวกับยูเรเนียม อันเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูขั้นพื้นฐานและชี้แจงหลักการของระเบิดปรมาณู
 
๓. ประธานเหมา เจ๋อตง ได้เรียกประชุมคณะกรมการเมืองและตัดสินใจในเดือน ก.ค. ปี ๑๙๕๙ (พ.ศ.๒๕๐๒) เพื่อทำโครงการพัฒนาระเบิดปรมาณูเอง โดยตั้งชื่อโครงการเพื่อพัฒนาระเบิดปรมาณูของตนเองว่า "โครงการ ๕๙๖" (“596工程”) ภายหลังที่สหภาพโซเวียตยุติข้อตกลงความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งการจัดหาแบบจำลองและข้อมูลทางเทคนิคสำหรับการผลิตระเบิดปรมาณู อันเป็นผลมาจากข้อคิดเห็นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งในขณะนั้นมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้ง ๔ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ  อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ได้มีการปิดล้อมอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรมาณูของจีน ต่อมาในเดือน พ.ย. ปี ๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) คณะกรรมการกลางพรคคคอมมิวนิสต์จีน ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษที่นำโดยนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ จนนำไปสู่ความสำเร็จของจีนในการทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกเมื่อวันที่ ๑๖ ต.ค. ปี ๑๙๖๔ (พ.ศ.๒๕๐๗)
 
บทสรุป

หากจีนไม่เริ่มต้นพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะการมีระเบิดปรมาณู ระเบิดไฮโดรเจน และดาวเทียมตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๖๐ (พ.ศ.๒๕๐๓ - ๑๕๑๒) จีนจะไม่เป็นประเทศใหญ่ที่มีอิทธิพลสำคัญ และจะไม่มีสถานะระหว่างประเทศอย่างเช่นในปัจจุบัน
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  

http://www.mzdbl.cn/gushi/gushi1/yuanzidan.html

http://military.cnr.cn/jsls/xwdd/20181018/t20181018_524388523.html