bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๔ ก.ค.๖๒ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย รายงานว่าเขื่อนในจีนเพิ่มการระบายน้ำเป็น ๑,๔๔๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยคาดว่าน้ำจะไหลมาถึงชายแดนไทยภายใน ๑ – ๒ วัน หรือราวปลายสัปดาห์นี้

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลง มาจากปัจจัยทั้งสภาวะฝนน้อย ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาทางการจีนปิดประตูระบายน้ำ เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงระบบของเขื่อน ก่อนจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น ๑,๒๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ล่าสุดจีนได้ปล่อยน้ำเพิ่มเป็นกว่า ๑,๔๔๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว คาดว่าน้ำจะไหลลงมาถึงชายแดนไทยในอีก ๑ – ๒ วันข้างหน้า หรือราวปลายสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการประสานงานจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ได้ออกเอกสารชี้แจงสถานการณ์ระดับน้ำเมื่อวันที่ ๑๘ ก.ค.๖๒ ว่า
        ๑.๑ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.๖๒ ซึ่งเป็นต้นฤดูน้ำหลาก มีระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยลดลงต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุดในอดีต แต่คาดการณ์การว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.
        ๑.๒ ระดับน้ำของแม่น้ำโขงทางตอนบนของไทย ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึง เมืองหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ลงมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านหนองคาย ไปจนถึงเมือง เนียะเลิง ของกัมพูชา ต่ำสุดตั้งแต่ที่มีการบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ต่ำที่สุดในรอบ ๒๗ ปี โดยยกตัวอย่างระดับน้ำที่วัดได้ที่ อ.เชียงแสน อยู่ที่ ๒.๑๐ เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยในรอบ ๕๗ ปี ที่ ๓.๐๒ เมตร ในช่วงเวลาเดียวกันของปี และต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่เคยวัดได้ประมาณ ๐.๗๕ เมตร

๒. ในเชิงภูมิศาสตร์ แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๑๐ และเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก จากต้นกำเนิดในที่ราบสูงทิเบต จนไหลลงสู่ ทะเลที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งหมดกว่า ๔,๙๐๒ กิโลเมตร ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนใน ๖ ประเทศ ตั้งแต่จีน เมียนมา ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง การกักเก็บ เพิ่ม หรือลดการระบายน้ำ จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของประเทศอื่นที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ซึ่งคุณเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) อธิบายว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงระยะนี้ เกิดขึ้นในสองพื้นที่ของไทย อันเป็นที่มาของวิกฤตน้ำแห้งในแม่น้ำโขง ได้แก่
        ๒.๑ ช่วง จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจิ่งหงของจีน อยู่ห่างจากไทยราว ๓๔๐ กิโลเมตร โดย MRC ระบุว่าเขื่อนจิ่งหงได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำจากประมาณ ๑,๒๐๐ ลบ.ม./วินาที เหลือ ๕๐๐ ลบ.ม./วินาที เหลือแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยปล่อย โดยทางการจีนได้แจ้งอย่างเป็นทางการมายังไทยว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำในช่วงวันที่ ๙ – ๑๘ ก.ค.๖๒ เนื่องจากการดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จึงมีผลให้ปริมาณการปล่อยน้ำจากจีนสู่ลำน้ำโขงเหนือน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีลดลงเป็นสัดส่วนประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำที่จะผ่านมาถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี
        ๒.๒ ผลกระทบจากการทดสอบเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยแค่เพียง ๑๙๕ กิโลเมตร ทั้งนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีก่อสร้างในรูปแบบ Run-of-River หรือฝายทดน้ำขนาดใหญ่ ปราศจากอ่างเก็บน้ำเหนือโรงไฟฟ้าและไม่มีการกักเก็บน้ำในตอนบนของฝายขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้า เรียกว่า น้ำทุกหยดไหลมาเท่าไหร่ก็ผ่านไปเท่านั้นและเกิดเป็นไฟฟ้าสะอาดส่งจากไซยะบุรีไปยังประเทศไทยและใช้ภายใน สปป.ลาว

๓. ประเทศจีนมีการวางแผนในการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานของจีน (โดยได้ดำเนินการก่อสร้างก่อนแล้ว จำนวน ๘ เขื่อน) จากจำนวน ๑๔ เขื่อน ได้แก่ เขื่อนมานวาน เขื่อนต้าเฉาฉาน เขื่อนจิ่งหง (เชียงรุ้ง) เขื่อนเสี่ยวหวาน เขื่อนนั่วจาตู้ เขื่อนกอนเกาเฉียว เขื่องวุ่นอองหลง เขื่อนหลี่ตี้ เขื่อนหวงเติ้ง เขื่อนเหมี่ยวเว่ย เขื่อนตู้ป่า เขื่อนต้าหัวเฉียว เขื่อนกูฉุย และเขื่อนกันหลันป่า

บทสรุป
นักวิชาการไทยจำนวนมากมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะหลังจากที่จีนเปิดประเทศ และมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้นโยบายที่เรียกว่า Lanchang Mekong Economic Belt หรือ สายพานเศรษฐกิจในล้านช้างแม่น้ำโขง ที่จีนนำมาเรียกใหม่ว่าเส้นทางสายไหม เป็นเส้นทางใหม่ที่จีนต้องการให้เป็นตลาดการค้าที่สำคัญของจีน ซึ่งแนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้มี ๓ ประเด็น คือ
(๑) การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ โดยหลังปี ๑๙๘๐ (พ.ศ.๒๕๒๓) จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจำนวนมาก
(๒) การเสริมการท่องเที่ยวทางตอนใต้ของจีน
(๓) การทำแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางการค้า (ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามจะระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง) ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปในอดีตยุคล่าอาณานิคม จะพบว่าฝรั่งเศสก็เคยมีความพยายามในการระเบิดแก่งหลีผี (ปัจจุบันอยู่ใน สปป.ลาว) เพื่อเดินเรือทำการค้ามาแล้ว ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสได้ถอนตัวจากลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะยุคสงครามอินโดจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://news.thaipbs.or.th/content/281886

https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_2734657

http://www.livingriversiam.org/4river-tran/4mk/mek_a40.pdf

http://www.livingriversiam.org/trans-river/mk-dam-china

http://www.mekongci.org/images/work-mekong/ppt-mekong-dams.pdf

https://isaanrecord.com/2017/02/18/mekongriver-burst/

http://www.mrcmekong.org/assets/Publications/Consultations/SEA-Hydropower/SEA-Summary-final-report-Thai-18-Oct-10.pdf