bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๔ ต.ค.๖๑ : ความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน ในการซ้อมรบร่วมทางทะเลประจำปี ๒๐๑๘

ความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน ในการซ้อมรบร่วมทางทะเลประจำปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ระหว่างจีน-อาเซียน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ – ๒๘ ต.ค.๖๑ โดยเป็นการจัดการลาดตระเวนและการกู้ภัย รวมทั้งการฝึกซ้อมทางทหารที่เมืองจ้านเจียง และน่านฟ้าเหนือทะเลตะวันออก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สำนักข่าวซินหวา รายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๑ ต.ค.๖๑ ว่า เรือรบจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการซ้อมรบร่วมทางทะเลประจำปี ๒๐๑๘ ระหว่างจีน-อาเซียน ได้มาชุมนุมกันที่ท่าเรือทหารแห่งหนึ่งในเมืองจ้านเจียง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ของจีน โดยการซ้อมรบในครั้งนี้เป็นปฏิบัติการตามความเข้าใจระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของจีน-อาเซียน ในการพัฒนาความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและความปลอดภัยระหว่างจีน-อาเซียนให้ลึกซึ้ง อันจะเป็นการเพิ่มพูนความไว้วางใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร การส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางทะเล และเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับการคุ้มครองด้านความปลอดภัยระหว่างกันอีกด้วย

๒. พลเอก เว่ย เฟิงเหอ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน ได้พบกับบรรดาหัวหน้าคณะสังเกตการณ์การซ้อมรบร่วมทางทะเลประจำปี 2018 ระหว่างจีน-อาเซียน ใอวันที่ ๒๑ ต.ค.๖๑ ที่ผ่านมา ที่เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง โดย พลเอก เว่ย เฟิ่งเหอ กล่าวว่า การซ้อมรบร่วมทางทะเลประจำปี ๒๐๑๘ ระหว่างจีน-อาเซียนเป็นการซ้อมรบทางทะเลครั้งแรก ที่กองทัพจีนและกองทัพ ๑๐ ประเทศของสมาชิกอาเซียนที่ได้ร่วมกันจัดขึ้น จึงมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจ และความตั้งใจทั้งของจีนและอาเซียนซึ่งจะทุ่มเทกำลังเพื่อพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ทั้งนี้ จีนมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศระหว่างจีน-อาเซียน การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการติดต่อ เพื่อพัฒนาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอย่างลึกซึ้ง และสนับสนุนความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียนให้ยกระดับสูงยิ่งขึ้น

๓. การจัดกำลังเข้าร่วมซ้อมรบทางทะเล ในครั้งนี้กองทัพจีนส่งเรือพิฆาตชั้นกว่างโจว พร้อมเรือรบ และเรือบรรทุกเครื่องบิน ขณะที่กองทัพสิงคโปร์ส่งเรือรบอาร์เอสเอส สตอลวาร์ตเข้าร่วม ส่วนเวียดนามส่งเรือรบ ๑ ลำ บรูไนส่งเรือลาดตระเวน ฟิลิปปินส์ส่งเรือสนับสนุน สำหรับไทยส่งเรือหลวงตากสินเข้าร่วม ส่วนกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมา ส่งเรือสังเกตการณ์

๔. ข้อสังเกต การฝึกซ้อมรบร่วมทางทะเลของกองทัพจีน
        ๔.๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค.๕๘ เรือรบจำนวนมากกว่า ๒๐ ลำและเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์จำนวนหลายลำจากจีน มาเลเซีย อินเดียและไทย ได้ร่วมฝึกซ้อมกู้ภัยครั้งที่ ๔ ของอาเซียน ที่น่านน้ำทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองปีนังประเทศมาเลเซีย โดยฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมการซ้อมรบครั้งนี้ได้ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด กระชับการแลกเปลี่ยน ความร่วมมือให้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการกู้ภัยทางทะเลให้สูงขึ้น
        ๔.๒ กองทัพจีนได้ส่งทหารเข้าร่วมการซ้อมรักษาความมั่นคงและปราบปรามการก่อการร้ายทางทะเลของกรอบความร่วมมือการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (๑๐+๘) ในระหว่างวันที่ ๒ – ๑๒ พ.ค.๕๙ ที่บรูไนและสิงคโปร์ รวมทั้งบริเวณน่านน้ำระหว่างบรูไนและสิงคโปร์ โดยการร่วมฝึกซ้อมการจัดกองเรือเดินเรือ เพื่อคุ้มกันการเดินเรือ การค้นหาทางทะเล การลงจอดเครื่องเฮลิคอปเตอร์ และการปราบปรามการก่อการร้าย เป็นต้น ซึ่งกองทัพจีนจะส่งเรือพิฆาตขีปนาวุธ "หลันโจว" พร้อมด้วยสมาชิกหน่วยรบพิเศษจำนวน ๑๒ นายและนายทหารเสนาธิการจำนวน ๔ นายเข้าร่วมการซ้อมรบครั้งนั้น

บทสรุป

การซ้อมรบร่วมทางทะเลประจำปี ๒๐๑๘ ระหว่างจีน-อาเซียน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ – ๒๘ ต.ค.๖๑ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของกองทัพจีนกับกองทัพของประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ อันสืบเนื่องมาจากผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมจีน-อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ ๘ ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๖ ก.พ.๖๑ เพื่อเพิ่มพูนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ กองทัพเรือจีน มาเลเซียและไทย ได้เข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลร่วมกันในบริเวณช่องแคบมะละกานอกชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๙ ต.ค.๖๑ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ทั้ง ๓ ประเทศได้ฝึกซ้อมร่วมกัน ณ บริเวณประตูสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยฝ่ายจีนได้แถลงว่า เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งยกระดับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในทางปฏิบัติ และเสริมสร้างขีดความสามารถที่จะร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคง แต่ไม่ได้มีเป้าหมายที่ประเทศใดเป็นการเฉพาะ จึงน่าสนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนจากกรณีดังกล่าว ที่จะมีผลต่อการผลักดันโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI หรือ One Belt, One Road : OBOR) ของจีน ซึ่งกำลังแข่งขันช่วงชิงอำนาจอิทธิพลกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/22/c_137550938.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/22/227s272708.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/22/227s272706.htm 

http://thai.cri.cn/247/2016/04/29/228s241809.htm

http://thai.cri.cn/247/2015/05/28/42s232841.htm

https://thediplomat.com/2018/10/why-the-first-china-asean-maritime-exercise-matters/ 

https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_1723711 

https://www.benarnews.org/thai/news/TH-MY-trilateral-training-10182018165613.html/ 

https://jqknews.com/news/86018-The_opening_ceremony_of_China_ASEAN_maritime_alliance_has_created_3_first_time.html