bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๔ เม.ย.๖๒ : ประเด็นการพัฒนาและข้อเสนอสำหรับการเชื่อมโยง (Connectivity) ของไทย

ประเด็นการพัฒนาและข้อเสนอสำหรับการเชื่อมโยง (Connectivity) ของไทย ต่อข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)” ของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ประเด็นการพัฒนา
        ๑.๑ BRI ก่อให้เกิดการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนอย่างรอบด้าน โดยการเชื่อมโยงภูมิภาคจากจีนไปสู่ประเทศในเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง แอฟริกาเหนือ และยุโรป ทำให้ภูมิภาคเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนและสร้างประโยชน์ร่วมกัน ด้วยการสร้างระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และช่องทางการขนส่งคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง อันเป็นการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเปิดตลาดซึ่งกันและกัน ซึ่งจีนให้ความสำคัญต่อประเทศไทยที่มีสภาพภูมิรัฐศาสตร์เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งที่อยู่ในภาคพื้นทวีปและทางทะเล
        ๑.๒ นอกจากการที่ BRI จะยึดถือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานและเป็นแกนหลักแล้ว ยังได้มีการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญในการดำเนินการ โดยการปฏิบัติตามหลักการร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมแบ่งปันกันกับประเทศต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความมั่นคงและการเมือง ด้วยการผลักดันการดำเนินการที่ประกอบด้วย (๑) การประสานงานด้านนโยบาย (๒) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อ (๓) การขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า (๔) การเสริมสร้างความร่วมมือการควบคุมทางการเงินแบบบูรณาการ และ (๕) การสร้างความสัมพันธ์จากประชาชนสู่ประชาชน

๒. ข้อเสนอ
        ๒.๑ ควรมีการยกระดับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (ที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) ให้เป็นศูนย์ข้อมูลและหน่วยประสานงานกลางในระดับชาติ เพื่อการศึกษาวิจัยแนวนโยบายและรูปแบบการเชื่อมโยงของ BRI ของจีน และการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของไทยให้เป็นรูปธรรม โดยมีการติดตามประเมินผลการเชื่อมโยงระหว่าง BRI ของจีนกับโครงการ EEC ของไทย โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ รวมทั้งผลักดันการใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งของไทยและจีน
        ๒.๒ ควรส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนภายใต้กรอบ BRI เช่น การปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา และการจัดระเบียบเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน ฯลฯ ที่จะอำนวยประโยชน์ต่อโครงการ EEC ของไทย ให้เป็นศูนย์กลางการค้าและบริการในภูมิภาค อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง ด้วยการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาคน
        ๒.๓ ควรมีสถานที่เพื่อเป็นสัญลักษณ์และศูนย์กลางในการสร้างความเข้าใจและเผยแพร่แผนงานกิจกรรมความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน โดยการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีนตามข้อตกลง เพื่อดำเนินงานในลักษณะเช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทย เมื่อ ๖ ปีที่ผ่านมา

บทสรุป

การดำเนินโครงการความริเริ่มหรือข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ของจีน จะเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยกับจีนจะเสริมสร้างความร่วมมือในปริบทนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างบทบาทนำให้กับประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย จากการส่งเสริมการเชื่อมโยงดังกล่าว

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
หมายเหตุ ดูรายละเอียดของข้อมูลได้จาก โจว หมิงเหว่ย. (๒๕๖๒). คำสำคัญเพื่อเข้าใจประเทศจีน ฉบับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากหนังสือของ พลตรี ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล. (๒๕๖๑). ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์.