bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๖ ส.ค.๖๓ : ความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ในการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ตามแผนปฏิบัติการ ๕ ปีสำหรับความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) หรือ 澜沧江-湄公河合作五年行动计划(2018-2022)

ขอนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ในการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ตามแผนปฏิบัติการ ๕ ปีสำหรับความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) หรือ 澜沧江-湄公河合作五年行动计划(2018-2022)ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้  

๑. หลักการพื้นฐาน (基本原则) ของแผนปฏิบัติการฉบับดังกล่าว ซึ่งได้รวบรวมความต้องการด้านการพัฒนาของ ๖ ประเทศในกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง อันได้แก่ ประเทศกัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม รวมทั้งการมีกระบวนการบูรณาการในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด โดยการดำเนินงานตามโครงการและสำรวจรูปแบบความร่วมมืออนุภูมิภาคใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของหกประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนี้จะอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันการปรึกษาหารือและการประสานงานซึ่งกันและกันการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจ ภายใต้แนวคิดในการร่วมสร้างและการแบ่งปัน การเคารพกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับและกฎเกณฑ์ภายในประเทศของแต่ละรัฐสมาชิก
 
๒. โครงสร้างและกลไกการดำเนินงาน (工作架构)  
     ๒.๑ มีการปรับปรุงกรอบกลไกหลายระดับ ประกอบด้วย การประชุมของผู้นำ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงการทูต และคณะทำงานร่วมในสาขาต่างๆ เพื่อเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานระหว่างสำนักเลขาธิการหรือหน่วยงานประสานงานหกประเทศในกรอบความล้านช้าง – แม่โขง ซึ่งโดยปกติจะมีการประชุมระดับผู้นำทุกสองปีเพื่อวางแผนการพัฒนาความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขงในอนาคต แต่หากจำเป็นให้จัดการประชุมระดับผู้นำชั่วคราวบนพื้นฐานของฉันทามติ ส่วนการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศประจำปีจะดำเนินการตามฉันทามติของการประชุมผู้นำเพื่อประเมินความคืบหน้าของความร่วมมือและให้ข้อเสนอแนะสำหรับความร่วมมือ ในขณะที่การจัดการประชุมเจ้าหน้าที่การทูตอาวุโสการทูตและการประชุมคณะทำงานร่วมในสาขาต่างๆ จะจัดขึ้นทุกปีตามความเหมาะสม
     ๒.๒ การดำเนินงานของสำนักเลขาธิการความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง โดยผ่านการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งจะส่งรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนี้ และประเทศสมาชิกจะส่งรายชื่อโครงการร่วมสำหรับปีถัดไปให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศพิจารณาและอนุมัติ บนพื้นฐานของความเห็นพ้องต้องกันของทั้ง ๖ ฝ่าย โดยค่อยๆ ยกระดับคณะทำงานร่วมในส่วนที่มีลำดับความสำคัญเป็นระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับรัฐมนตรี ในขณะที่เสริมสร้างความร่วมมือในด้านที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ ด้วย
 
๓. ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ (水资源) โดยมุ่งดำเนินงานออกแบบการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดทำ "แผนปฏิบัติการห้าปีสำหรับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ" เพื่อเจรจาและแก้ไขปัญหาที่มีความกังวลร่วมกัน (制定“水资源合作五年行动计划”,以协商解决共同关心的问题。) กล่าวคือ
     ๓.๑ การเสริมสร้างการเจรจาเกี่ยวกับนโยบายทรัพยากรน้ำและจัดฟอรัมความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่โขงเป็นประจำ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่โขง และทำให้เป็นเวทีความร่วมมือที่ครอบคลุมสนับสนุนความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง - แม่โขง
     ๓.๒ การส่งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการอนุรักษ์น้ำดำเนินการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนจัดการดำเนินโครงการสาธิตการพัฒนาทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยีการป้องกันอย่างยั่งยืนและโครงการความร่วมมือที่มีลำดับความสำคัญ
     ๓.๓ การเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและดำเนินการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานในสาขานี้ โดยการพัฒนาและปรับปรุงระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำที่เปิดให้บริการสำหรับประเทศในกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง รวมทั้งเสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลและสารสนเทศ
     ๓.๔ การเสริมสร้างการจัดการในภาวะฉุกเฉินของอุทกภัยและภัยแล้ง โดยดำเนินการประเมินร่วมกันของการควบคุมน้ำท่วมและการบรรเทาภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำโขงและดำเนินการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการจัดตั้งช่องทางการแบ่งปันข้อมูลและการสื่อสารในช่วงแรกสำหรับภัยพิบัติน้ำท่วมและภัยแล้งในแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง
 
บทสรุป

ตามกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในขณะที่จีนและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังคงเสริมสร้างการพัฒนาแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนของประเทศต่างๆ ก็ประสบกับวิกฤตความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังขาดการสื่อสารหรือกลไกการจัดการน้ำที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือระดับน้ำลดลงที่เกิดจากต้นน้ำของภัยแล้ง ดังนั้น การจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านน้ำอย่างยุติธรรมและสมเหตุสมผล รวมทั้งการป้องกันผลกระทบด้านลบจากภัยแล้งและอุทกภัยที่ปลายน้ำ กลไกความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขงจึงมุ่งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์วิจัยทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานการแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาของแม่น้ำและการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศสมาชิก โดยจีนมีท่าทียินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาของแม่น้ำกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นและสร้างความสัมพันธ์แบบร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน (中国更愿意与邻国分享河流的水文信息,并和与其共享水资源的邻国建立合作关系。)
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://www.xinhuanet.com/world/2018-01/11/c_1122240868.htm 

http://www.wkxb.ynu.edu.cn/html/2019/2/20190216.html 

https://iir.sass.org.cn/_upload/article/files/11/52/fa4c3e354353971dca1e680cf1fa/853c9484-49ca-4357-8adf-234862277079.pdf 

http://sc.xfafinance.com/html/BR/Policy/2018/259927.shtml 

https://chinadialogue.net/zh/1/43928/ 

http://djh.168tex.com/2018-1-27/958763.html