การดำเนินยุทธศาสตร์ของจีนในการประสานการพัฒนากรุงปักกิ่ง (Beijing) –มหานครเทียนจิน (Tianjin) –มณฑลเหอเป่ย (Hebei Province) ในการสร้างโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นว่า ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นและเห็นชัดในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ต้องทำ ณ ปัจจุบันคือการปูพื้นฐานหรือการส่งไม้ต่อ เพื่อผลักดันความสำเร็จให้เกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียว แต่มาจากการร่วมมือกันของทุกคน ดังนั้น เมื่อปีที่แล้ว จีนประกาศแผนการที่จัดตั้งเขตเมืองใหม่สงอัน (Xiongan) ขึ้นที่มณฑลเหอเป่ย โดยตั้งเป้าให้เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว เช่นเดียวกันกับเซินเจิ้น (Shenzhen) ที่จีนตัดสินใจสร้างให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกเมื่อปี ๑๙๘๐ (พ.ศ.๒๕๒๓) หรือเมื่อ ๓๘ ปีก่อน
๑.๑ ปัจจุบันพิมพ์เขียวสำหรับเขตเมืองใหม่สงอัน คือรูปแบบการพัฒนาเมืองระดับโลกที่จีนเป็นคนเขียนขึ้นเองกับมือ และจะยืนหยัดก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยต้องแสวงหาการพัฒนาใหม่ๆ และต้องบรรลุมาตรฐานใหม่ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
๑.๒ มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทให้บริการทางการเงินระดับโลก ได้คาดการณ์ว่า เขตเมืองใหม่สงอันจะดึงดูดเงินทุนและบุคลากรมหาศาล โดยคาดว่า ยอดการลงทุนในเขตนี้จะสูงถึง ๑.๒ - ๒.๔ ล้านล้านหยวนใน ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า และจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นถึง ๕.๔ ล้านคนใน ๑๕ ปีข้างหน้าจากจำนวน ๑.๑ ล้านคนในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดันอัตราการเติบโตของ GDP จีนเฉลี่ยร้อยละ ๐.๑๓ - ๐.๑๙ ต่อปี รวมทั้งดันการลงทุนของจีนโตเฉลี่ยร้อยละ ๐.๓๓ ต่อปี
๒. นายเฉิน กัง ผู้อำนวยการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เขตเมืองใหม่สงอัน เปิดเผยว่า ปีนี้ เขตเมืองใหม่จะพัฒนาเข้าสู่ขั้นตอนการสร้างสรรค์ขนาดใหญ่ กล่าวคือ
๒.๑ ปีนี้ เขตเมืองใหม่สงอันจะให้ความสำคัญในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ การเงิน เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นต้น ทุ่มเทจัดสร้างเขตเมืองใหม่สงอันให้กลายเป็นแบบฉบับแห่งการพัฒนาระดับสูงของประเทศ
๒.๒ พื้นที่บริเวณลู่เฉิงของเขตทงโจว ที่ห่างจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ๓๔ กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของกรุงปักกิ่ง ในฐานะเป็นเป้าหมายการพัฒนา “ศูนย์การปกครองย่อยของกรุงปักกิ่ง ” ก็กำลังอยู่ในการสร้างสรรค์เช่นกัน ขณะนี้ หน่วยงานทางการระดับเมืองของกรุงปักกิ่ง ๓๕ แห่ง และหน่วยงานบริหารอื่น ๆ อีก ๑๖๕ แห่ง ได้เสร็จสิ้นการย้ายสถานที่ทำงานจากใจกลางกรุงปักกิ่งไปยังเขตทงโจวแล้ว ในอนาคต กรุงปักกิ่งมีแผนจะดำเนินโครงการเขตบริหารรุ่นที่ ๒ เพื่อส่งเสริมการย้ายหน่วยงานบริหารและประชากรออกจากใจกลางเมืองปักกิ่ง
บทสรุป
แม้ว่าการประสานพัฒนากรุงปักกิ่ง-มหานครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย ยังต้องความพยายามอีกมากในการทำให้ทั้งพื้นที่เมืองระดับมหานคร ๒ แห่งและพื้นที่อีก ๑ มณฑล ดังกล่าวพัฒนาไปด้วยกัน ในขณะที่การประสานการพัฒนามีความคืบหน้าและปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตสงอันของมณฑลเหอเป่ย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ ม.ค.๖๒ เพื่อติดตามการพัฒนาของพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบแนวทางในการวางแผนพัฒนาให้กับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ต่อไป
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.china.org.cn/china/2019-01/12/content_74365799.htm
http://thai.cri.cn/20190225/86112913-335b-fd90-ffe1-99e21ac68ff8.html
http://thai.cri.cn/20190119/fbb26c92-31a5-d64b-96f4-df9750cb18ef.html
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2055116858037659&id=1660335044182511
https://mgronline.com/china/detail/9610000023648
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2151568251741203&id=1625187591045941
http://www.globaltimes.cn/content/1136249.shtml