bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๗ มิ.ย.๖๑ : การสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมเขตปกครองตนเองทิเบต – กรุงกาฐมาณฑุ

การสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมเขตปกครองตนเองทิเบต – กรุงกาฐมาณฑุ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-เนปาล ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายกรัฐมนตรีเนปาล คัดห์กา ปราสาท โอลี (Khadga Prasad Oli) ซึ่งได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๔ มิ.ย.๖๑ ที่ผ่านมา และได้ลงนามในข้อตกลงจำนวน ๑๐ ฉบับ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นข้อตกลงในการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ที่จะก่อสร้างเชื่อมต่อเมืองซิกาเจอ (Xigaze/Shigatse) ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนกับกรุงกาฐมาณฑุของเนปาล

๒. ความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์
        ๒.๑ ประเทศเนปาลถือเป็นจุดขนส่งและกระจายสินค้าแห่งสำคัญระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้ และยังเป็นแกนกลางหลักในการขยับขยายการค้าขายแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทำผ่านเขตปกครองตนเองทิเบต โดยทางรถไฟนี้คาดว่าจะแสดงการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรระหว่างสองประเทศที่ดียิ่งขึ้น
        ๒.๒ ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ จีนได้สร้างทางรถไฟระยะทาง ๑,๑๐๐ กิโลเมตรเชื่อมที่ราบสูงทิเบตกับส่วนต่าง ๆ ของประเทศ และในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ได้สร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงลาซา ทิเบต กับ ซีกาเจอ (Xigaze/Shigatse) ระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตร โดยมีเส้นทางซิกาเจอ (Xigaze/Shigatse) - จี๋หลง (Gyirong) อยู่ในแผนการรถไฟปี พ.ศ.๒๕๕๙ - ๒๕๖๓

๓. ประโยชน์ที่เนปาลจะได้รับ
        ๓.๑ เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของเนปาล ที่ต้องการเสนอให้พัฒนาถนนและการจราจรทางอากาศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นธุรกิจการค้าระดับทวิภาคีและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
        ๓.๒ รัฐบาลเนปาลคาดหวังว่าทางรถไฟสายใหม่นี้จะเป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศจีน-เนปาล ตามนโยบาย “เข็มขัดเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st-Century Maritime Silk Road) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

๔. ประโยชน์ที่จีนจะได้รับ
        ๔.๑ เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้จะเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตามโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road : OBOR หรอื Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันตกของจีนมีเส้นทางเชื่อมโยงออกสู่มหาสมุทรอินเดียเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านภูมิภาคเอเชียใต้
        ๔.๒ เนปาลสามารถเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจีนกับอินเดียได้ โดยร่วมผลักดันระเบียงเศรษฐกิจจีน-เนปาล-อินเดีย

บทสรุป

อาจกล่าวได้ว่าจีนและเนปาลต่างเป็นมิตรและคู่ค้าของกันและกัน ดังนั้นการให้ความร่วมมือในการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน – กาฐมาณฑุของเนปาล ภายใต้กรอบโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”นั้น จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ และเป็นช่องทางของการขยายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคี โดยเฉพาะการผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง พลังงาน การป้องกันภัยพิบัติ และการบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมายังเนปาลมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อเนปาล

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

www.xinhuanet.com/english/2018-06/24/c_137277462.htm

https://mgronline.com/china/detail/9610000062686

http://news1live.com/detail.aspx?NewsID=9610000062686

http://www.liuliantoday.com/2018/06/22/news-385/