มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๖ ส.ค.๖๒ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ส่งสารแสดงความยินดีกับการจัดงาน Smart China Expo 2019 ที่นครฉงชิ่ง โดยในสารระบุว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ อย่างเช่น อินเทอร์เน็ต Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ฯลฯ มีการพัฒนามากขึ้นในทุกๆ วัน รวมทั้งการปฏิวัติทางเทคโนโลยีรอบใหม่และการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมได้มีความก้าวหน้ารุ่งเรือง อุตสาหกรรมอัจฉริยะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลที่สำคัญและกว้างขวางต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม รวมทั้งการจัดการโลก ดังนั้น จีนจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบชาญฉลาด โดยเร่งส่งเสริมให้ดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรม และให้อุตสาหกรรมเป็นแบบดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการบูรณาการอย่างลึกซึ้งของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยจีนยินดีที่จะทำงานกับร่วมกับนานาประเทศ เพื่อสร้างยุคที่ทันสมัยและแบ่งปันผลลัพธ์ที่ชาญฉลาดร่วมกัน
๒. นับตั้งแต่ในปี ๒๐๐๖ (พ.ศ.๒๕๔๙) คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ ระยะกลางและระยะยาว ปี ๒๐๐๖ – ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๔๙ – ๒๕๖๓) โดยกำหนดให้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ต้องมีการศึกษาและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การสร้าง smart sensors, smart robots และเทคโนโลยีเสมือนจริง ให้สำเร็จภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ซึ่งหลังจาก AI ได้เข้ามาเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากของจีน จนถูกเน้นย้ำในรายงานการทำงานของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้รายงานต่อที่ประชุมสองสภาเมื่อเดือน มี.ค. ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) โดยในเดือน ก.ค. ของปีเดียวกัน คณะรัฐมนตรีจีนได้ออกกลยุทธ์ AI โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาแกนหลักอุตสาหกรรม AI ในจีน โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้มากกว่า หนึ่งล้านล้านหยวน (ประมาณ ห้าล้านล้านบาท) มากกว่าตัวเลขในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) ถึง ๑๐๐ เท่า และคาดว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทะลุสิบล้านล้านหยวน ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)
๓. ข้อสังเกต ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ทั้งขนาดพื้นที่ของประเทศและจำนวนประชากร ดังนั้น ข้อมูลที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และปริมาณมหาศาล จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาและนำ AI มาใช้ในการจัดการข้อมูล โดยจีนได้แบ่งการพัฒนา AI ออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
๓.๑ ขั้นที่ ๑ พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ให้ถึงในระดับขั้นสูง ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยประเทศจีนจะกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี รวมทั้งระบบให้บริการ และมูลค่าเม็ดเงินสะพัดของอุตสาหกรรม AI ให้ชัดเจน ซึ่งอุตสาหกรรมหลัก AI ควรมีมูลค่ามากกว่า หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านหยวน และสามารถขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านล้านหยวน
๓.๒ ขั้นที่ ๒ บรรลุความก้าวหน้าและมีผลงานเป็นรูปธรรมในการพัฒนาทฤษฎี AI ภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) โดย AI ของจีนควรเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมหลักสาขาต่าง ๆ อาทิ การผลิตอย่างชาญชลาด, การแพทย์, การแก้ปัญหาระบบในเมืองใหญ่, การเกษตร และการป้องกันประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลัก AI จะต้องสร้างมูลค่ามากกว่าสี่แสนล้านหยวน และขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ามากกว่าห้าล้านล้านหยวน ภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘)
๓.๓ ขั้นที่ ๓ เป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่จะต้องทำให้จีนก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำ AI ในทุกแง่มุม ทั้งทฤษฎี เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์แอพพลิเคชัน พร้อมกับพาอุตสาหกรรมหลัก AI ที่มีมูลค่ามากกว่าสิบล้านล้านหยวนตามเป้าหมายของกลยุทธ์ AI ที่กำหนดไว้ ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)
บทสรุป
จีนได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่นวัตกรรมขับเคลื่อนการพัฒนา โดยการส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real economy) ได้พัฒนาอย่างผสมผสานกัน และสร้างสรรค์อุตสาหกรรมการผลิตใหม่ จากการเร่งพัฒนาให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นระบบอุตสาหกรรมการผลิต และให้อุตสาหกรรมการผลิตเป็นระบบดิจิทัล ดังกรณีตัวอย่างที่สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา (NIPA) ได้เปิดตัวระบบอัจฉริยะใหม่ เมื่อวันที่ ๑๔ ส.ค.๖๒ ซึ่งระบบดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยสำนักพิมพ์ทรัพย์สินทางปัญญา (IPPH) เพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือของประเทศสู่ดิจิทัล โดยจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถแก้ไข รวมทั้งพิสูจน์อักษรและเรียงพิมพ์โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการพิมพ์ ตลอดจนสามารถลดจำนวนชั่วโมงในการทำงานลงไปได้อีกด้วย
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
http://www.xinhuanet.com/english/2019-08/26/c_138339110.htm
http://www.globaltimes.cn/content/1162663.shtml
http://thai.cri.cn/20190826/7fcda5d1-63a4-8cad-a75e-2bd82c8282c8.html
https://www.facebook.com/aizhongchina/posts/1488085004656391/
https://www.youtube.com/watch?v=ID-r6i9Ht-Q