จีนแสดงความไม่พอใจกรณีที่เรือรบของสหรัฐฯ ได้ล่วงล้ำน่านน้ำหมู่เกาะซีซา (西沙群岛, Xisha Islands) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค.๖๑ นายลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เรือรบสหรัฐฯ ล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำหมู่เกาะซีซา หรือหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) ของจีนโดยระบุว่า จีนไม่พอใจและคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการกระทำดังกล่าว และเร่งให้สหรัฐอเมริกาหยุดปฏิบัติการท้าทาย ที่รุกรานอธิปไตยและคุกคามความมั่นคงของจีนในทันที
๒. กรณีเหตุการณ์ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค.๖๑ ได้มีเรือรบฮิกกินส์ (Higgins) และเรือรบแอนตี้แทม ( Antietam) ของกองทัพสหรัฐฯ ได้ล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำหมู่เกาะซีซา โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลจีน ทำให้กองทัพเรือจีนต้องแจ้งต่อเรือรบสหรัฐฯ ตามกฎหมายของจีน โดยใช้ทั้งวิธีเตือนและขับไล่ให้เรือรบสหรัฐฯ ออกไปจากน่านน้ำดังกล่าว
๓. หากวิเคราะห์สภาพพื้นที่ของหมู่เกาะซีซาพบว่า อยู่ในเขตมณฑลไห่หนานของจีน โดยอยู่ทางตอนเหนือของทะเลจีนใต้ ประกอบด้วยหินโสโครก เนินทราย และเกาะขนาดเล็กมากกว่า ๓๐ แห่ง ตั้งอยู่ระหว่างชายฝั่งทะเลของเวียดนาม จีน ห่างจากเกาะไห่หนานของจีนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘๐ไมล์ทะเล ครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีคู่พิพาทอ้างสิทธิอยู่ ๓ ฝ่าย ได้แก่ จีน เวียดนาม และดินแดนไต้หวัน โดยเฉพาะบนเกาะวู๊ดดี้ ที่จีนอ้างสิทธิและอนุมัติจัดตั้งกองกําลังรักษาการณ์อย่างเป็นทางการในเขตการปกครองเมืองซานชา เพื่อให้เป็นเมืองบริหารหมู่เกาะวู๊ดดี้ โดยจีนได้อ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์การครอบครองมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๗ ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ในขณะที่เวียดนามก็อ้างสิทธิเหนือเกาะวู๊ดดี้โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดดานัง รวมทั้งดินแดนไต้หวันที่อ้างสิทธิเหนือเกาะนี้เช่นกัน
๔. ข้อสังเกต
๔.๑ ทะเลจีนใต้ เป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเลหลักของโลก ทั้งการลําเลียงสินค้าและแหล่งพลังงานใต้ทะเลทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ อีกทั้ง ยังมีความสําคัญต่อการเคลื่อนกําลังทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียของกองกําลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Pacific Command) ที่ต้องใช้เคลื่อนกําลังสนับสนุนการปฏิบัติการของกองกําลังสหรัฐฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งโดยตรงจากสหรัฐฯ และจากฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ล เกาะกวม และในญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะเป็นการขัดขวางต่อเสรีภาพในการเดินเรือ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ Antonio Bautista Air Base ที่อยู่บนเกาะปาลาวัน, Basa Air Base ที่อยู่ห่างจากกรุงมะนิลา ๔๐ ไมล์, Fort Magsaysay ที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน, Lumbia Air Base ที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะมินดาเนา และ Mactan-Benito Ebuen Air Base ที่อยู่บนเกาะเซบู
๔.๒ จีนได้ประกาศเจตนารมย์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของจีนต่อทิศทางความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย The State Council Information Office of the People’s Republic of China ได้ออกสมุดปกขาว เรื่อง “China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation” และเผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค.๖๐ ได้กล่าวถึงปัญหาในทะเลจีนใต้ว่า ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีฉันทามติที่จะดำรงรักษาสันติภาพ ความมั่นคงและเสรีภาพในการเดินเรือ รวมทั้งการใช้เส้นทางบิน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลในรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหาโจรสลัด ปัญหาการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ และปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งจีนเรียกร้องให้มีความร่วมมือให้มีความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน โดยยึดถือแนวทางการปฏิบัติของกฎบัตรสหประชาชาติ และหลักการพื้นฐานของกฎหมายทางทะเล ทั้งที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายใหม่ทางทะเล รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ (United Nations Convention on the Law of the Sea, 1982 : UNCLOS) และหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติห้าประการ
บทสรุป
ท่าทีของจีน หากเกิดกรณีที่สหรัฐฯ ส่งเรือรบเข้าสู่น่านน้ำหมู่เกาะซีซาของจีนอีก จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของจีนและฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการรุกรานอธิปไตยของจีน และทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และระเบียบของน่านน้ำที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจีนประกาศว่าจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อพิทักษ์อธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติต่อไป
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://edition.cnn.com/2018/05/27/asia/south-china-sea-freedom-of-navigation-intl/index.html
https://th.m.wikipedia.org/wiki/หมู่เกาะแพราเซล
http://thai.cri.cn/247/2018/05/28/227s267528.htm