bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๓๑ ต.ค.๖๑ : ความเคลื่อนไหวของจีน ในการจัดการประชุมพุทธศาสนาโลกครั้งที่ ๕

ความเคลื่อนไหวของจีน ในการจัดการประชุมพุทธศาสนาโลกครั้งที่ ๕ ที่เมืองผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน ระหว่างวันที่ ๒๘ - ๒๙ ต.ค.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นางเซียว หง รองเลขาธิการสมาคมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาแห่งประเทศจีน (China Religious Culture Communication Association, CRCCA) กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๘ ต.ค.๖๑ ว่า การประชุมพุทธศาสนาโลก ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๐๐๕ (พ.ศ.๒๕๔๘) โดยวงการพุทธศาสนาสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยน ร่วมมือ และหารือสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพในระดับสูง และสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนทางพุทธศาสนาสำหรับสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน

๒. สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมพุทธศาสนาโลก ในครั้งนี้ คือ "แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเห็นที่เป็นกลาง เคารพความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างเจริญรุ่งเรือง" โดยมีการจัดเวทีการประชุมสำหรับสื่อมวลชน และเวทีการประชุมทางโทรทัศน์ ๓ รอบ รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์และโทรทัศน์ และมุ่งเน้นสู่ประเด็นหลักเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งมีการอภิปรายวิธีการสืบทอดพุทธศาสนาที่มีมาแต่ดังเดิม และบทบาทสำคัญของแนวคิดทางพุทธศาสนาในการดำรงอยู่และการพัฒนาของมวลมนุษย์ชาติ

๓. ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนกว่า ๑,๐๐๐ คน จากวงการพุทธศาสนา วงการวิชาการ วงการสื่อสารมวลชน และวงการการเมืองจาก ๕๕ ประเทศ มาเข้าร่วมประชุม สำหรับประเด็นของการประชุมยังคงเน้นการครอบคลุมถึงปัญหาการพัฒนาพุทธศาสนาในอนาคต ปัญหาทางสังคมที่มีความสนใจร่วมกัน และการดำรงอยู่ของมนุษย์ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงเนื้อหาสาระสําคัญของพุทธศาสนา บทบาทที่สำคัญของศาสนาพุทธในยุคปัจจุบัน และแรงบันดาลใจที่สำคัญของพุทธศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกแง่มุมของมนุษย์

๔. ข้อสังเกต กรณีที่จีนได้รับการชื่นชมว่าเป็นแบบอย่างในการจัดการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ โดยพระสงฆ์ตินช์ ควาง ชานห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ในคณะกรรมการสมาคม พุทธศาสนาเวียดนามได้กล่าว ในการประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งที่ ๒๗ ที่เมืองเป่าจี มณฑลส่านซีของจีน เมื่อวันที่ ๑๘ ต.ค.๕๗ ว่า เวียดนามควรเก็บประสบการณ์ของจีน จากการจัดประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การจัดพิธีต่างๆ หรือวาระการประชุม ต่างจัดได้ดีและเหมาะสมมาก (๒) เน้นความเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และเป็นระเบียบ มีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ (๓) พิธีรับรองมีการบริหารจัดการดี มีคุณภาพ เจ้าหน้าที่มีความกระตือรือร้อน

บทสรุป

การแลกเปลี่ยนและศึกษาอารยธรรมระหว่างกัน เป็นช่องทางสำคัญของการพัฒนาโลกอย่างสันติ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาติ ด้วยการแลกเปลี่ยนการศึกษาเรียนรู้ และการให้ความเคารพแก่กัน จึงทำให้อารยธรรมมนุษยชาติมีสีสันและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาถือเป็นแบบอย่างของการแลกเปลี่ยน ผสมผสาน รวมทั้งศึกษาเรียนรู้อารยธรรมที่ต่างกัน และเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างประชาชนของประเทศต่างๆ แต่ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางพุทธศาสนาสำหรับสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/28/c_137564569_5.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/29/233s272944.htm 

http://thai.cri.cn/247/2015/10/24/123s236790.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/04/09/230s266103.htm 

http://thai.cri.cn/247/2014/10/21/64s225928.htm 

http://usa.chinadaily.com.cn/a/201810/28/WS5bd5b67ca310eff303285046.html