ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสานต่อแนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ให้ถึงที่สุดและการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ (贯彻新发展理念,建设现代化经济体系。) เพื่อบรรลุเป้าหมาย“๑๐๐ ปีของสองเหตุการณ์” (“两个一百年”) และสานฝันของประเทศจีน ในการสร้างประเทศจีนที่มั่งคั่งและยิ่งใหญ่ให้เป็นจริง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาประเทศ ให้เป็นภารกิจอันดับแรกของพรรคฯ ในการบริหารประเทศ (ตอนที่ ๒ – จบ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประสานกันในระดับภูมิภาค การเร่งปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม และการส่งเสริมการเปิดเสรีแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ) กล่าวคือ
๑. การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท (实施乡村振兴战略。) โดยปัญหาเกษตรกร ปัญหาพื้นที่ชนบท และปัญหาเกษตรกรรมเป็นปัญหาปากท้องของชาติ และเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของพรรคฯ ซึ่งต้องยืนหยัดพัฒนาเกษตรกรรมและชนบทเป็นอันดับแรก สร้างกลไกด้านนโยบายและการพัฒนาที่ผสมผสานระหว่างเมืองกับชนบทอย่างสมบูรณ์แบบ และเร่งผลักดันเกษตรกรรมและชนบทให้มีความทันสมัย บนพื้นฐานของการมีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ มีสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย มีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบอารยประเทศ มีการปฏิรูประบบที่ดินและชนบทในเชิงลึกและปรับปรุงระบบบริหารที่ดินที่เรียกว่า “๓ สิทธิ” (“三权” ได้แก่ สิทธิการถือครอง สิทธิการเช่าเหมา สิทธิการจัดการ) ปกป้องระบบความสัมพันธ์ของการเช่าที่ดินไม่ให้เปลี่ยนแปลงในระยะยาวเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าพื้นที่รอบสองแล้ว จะขยายเวลาออกไปอีก ๓๐ ปี รวมทั้งปกป้องสิทธิในทรัพย์สินของเกษตรกรและเสริมสร้างเศรษฐกิจส่วนรวม สร้างหลักประกันทางอาหารของชาติ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชาชน สร้างระบบอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ เชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยเข้ากับการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรม ๓ ด้านในชนบท ส่งเสริมให้เกษตรกรมีงานทำและสามารถสร้างตัวได้ เพิ่มช่องทางรายได้ เพิ่มการสร้างงานพื้นฐานระดับล่างในชนบท เพิ่มความสมบูรณ์ของระบบบริหารในชนบทโดยบูรณาการทั้งการปกครองตนเอง การปกครองโดยกฎหมาย และการปกครองโดยหลักคุณธรรมเข้าด้วยกัน บ่มเพาะให้เกิดคณะทำงานที่มีความเข้าใจในเกษตรกรรม รักชนบทและรักเกษตรกรอย่างแท้จริง
๒. การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประสานกันในระดับภูมิภาค (实施区域协调发展战略。) เพิ่มการสนับสนุนการปฏิรูปพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่เมืองเก่า พื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ชายแดนและพื้นที่ยากจน ให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มความเข้มข้นในการสร้างหน้าใหม่ของการพัฒนาขนานใหญ่ทางภาคตะวันตกปฏิรูปและเร่งพัฒนาฐานอุตสาหกรรมเก่าแก่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลักดันการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางโดยอาศัยข้อได้เปรียบของพื้นที่ ริเริ่มชี้นำการพัฒนาภาคตะวันออก สร้างระบบการพัฒนาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการพื้นที่เฉพาะมากยิ่งขึ้น สร้างโฉมหน้าใหม่ของตัวเมืองที่พัฒนาไปพร้อมกันทั้งเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก เร่งการเคลื่อนย้ายพื้นที่เกษตรกรรมและเปลี่ยนแปลงประชากรให้เป็นคนเมืองมากยิ่งขึ้น เพื่อลดภาระที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นเมืองหลวงของนครปักกิ่งขับเคลื่อนการพัฒนาร่วม“จิงจิน จี้ (ปักกิ่ง เทียนจินเหอเป่ย )”และการสร้างเขตใหม่สงอันตามแผนขั้นสูงและมาตรฐานขั้นสูง ร่วมกันผลักดันการพัฒนาแถบเศรษฐกิจลุ่มน้ำแยงซีภายใต้การอนุรักษ์และไม่บุกรุกในวงกว้าง สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามทรัพยากรเร่งพัฒนาพื้นที่ชายแดน สร้างความแข็งแกร่งและความปลอดภัยของพื้นที่ชายแดนสนับสนุนให้เกิดเอกภาพระหว่างภาคพื้นดินและทางทะเล เร่งสร้างประเทศมหาอำนาจแห่งท้องทะเล
๓. การเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดภายใต้สังคมนิยมให้มีความสมบูรณ์แบบ (加快完善社会主义市场经济体制。) โดยเน้นการพัฒนาระบบสิทธิและกลไกตลาดเป็นสำคัญ มีการกระตุ้นระบบสิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเคลื่อนย้ายของปัจจัยสำคัญอย่างอิสระ มีความยืดหยุ่นด้านราคา มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ปฏิรูประบบบริหารการให้สัมปทานทรัพยากรของชาติ ผลักดันการสร้างทรัพยากรของชาติอย่างมีเสถียรภาพ ร่วมบ่มเพาะธุรกิจที่มีศักยภาพและการแข่งขันระดับสากลชั้นแนวหน้า เร่งขับเคลื่อนระบบรายชื่ออุตสาหกรรมต้องห้าม ขจัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อเอกภาพของตลาดและการแข่งขันอย่างอิสระ ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจภาคเอกชน ปฏิรูประบบพาณิชย์ในเชิงลึก ขจัดการผูกขาดตลาด เร่งปฏิรูปกลไกตลาด ผ่อนปรนข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมบริการ พัฒนาระบบตรวจสอบและบริหารตลาด ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาค สร้างระบบประสานงานทางเศรษฐกิจและนโยบาย เช่น การเงิน ฯลฯ เร่งปฏิรูประบบการลงทุนและการระดมทุน เร่งสร้างระบบการเงินสมัยใหม่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นให้มีความโปร่งใสและมีการตรวจสอบอย่างรอบด้าน ปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีในเชิงลึก ปฏิรูประบบการเงินในเชิงลึก เพิ่มศักยภาพฐานเศรษฐกิจด้านการบริการทางการเงิน พัฒนาโครงสร้างการควบคุมเสาหลัก ๒ ด้าน ได้แก่ นโยบายเงินตราและนโยบายด้านการเฝ้าระวัง เพิ่มการปฏิรูปตลาดทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนพัฒนาระบบตรวจสอบทางการเงินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ
๔. การส่งเสริมการเปิดเสรีแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ (推动形成全面开放新格局。) การเปิดเสรีนำมาซึ่งความก้าวหน้า ซึ่งต้องเน้นสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路”) ยืนหยัดการใช้รูปแบบเชิญเข้ามาควบคู่กับการก้าวออกไป โดยทำตามหลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับผลประโยชน์ เพิ่มความร่วมมืออย่างเปิดกว้างและเสรีด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม เกิดรูปแบบการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งในและต่างประเทศ ขยายการค้ากับต่างประเทศ ดำเนินนโยบายเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนระดับสูง ใช้ระบบ Pre-Establishment National Treatment (สิทธิความเสมอภาคของบริษัทต่างชาติเท่าเทียบกับบริษัทสัญชาติจีน) ช่วยลดกำแพงการเข้าถึงตลาด ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพิ่มกำลังการเปิดเสรีของพื้นที่ภาคตะวันตก สำรวจการสร้างท่าเรือ สร้างรูปแบบใหม่ของการลงทุนในต่างประเทศ ผลักดันความร่วมมือด้านกำลังการผลิตระหว่างประเทศ เกิดเป็นเครือข่ายการค้าการลงทุนและการระดมเงินทุนการผลิต รวมทั้งการบริการระดับโลก
บทสรุป
การสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยการเปิดเสรีและการพัฒนาศักยภาพทางการผลิตของสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคมนิยม โดยต้องกระตุ้นสังคมให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ รวมทั้งพยายามยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน อันทำให้ประเทศจีนบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตามแนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://cpc.people.com.cn/n1/2017/1028/c64094-29613660.html