จีนศึกษา วันพุธที่ ๘ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไทย-จีน จากกรณีที่จีนส่งเสริมให้อำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) ในพื้นที่สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับประเทศ ๑ ใน ๖ แห่งของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การดำเนินการของจีน ในการจัดวางพื้นที่การพัฒนาโดยเน้นการเป็น "สองเส้นทาง สองศูนย์กลาง ห้าพื้นที่ทำงาน" เพื่อนำร่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative: BRI) โดยมีนัยสำคัญกล่าวคือ
๑.๑ มุ่งใช้ "สองเส้นทาง" คือ
๑.๑.๑ เส้นทางเศรษฐกิจตำบลเหมิ่งหลุน-บ่อหาน โดยอาศัยความได้เปรียบของเส้นทาง R3A และมีด่านบ่อหาน ตำบลเหมิ่งล่า และตำบลเหมิ่งหลุน เป็นจุดสำคัญ แล้วเชื่อมต่อเส้นทางขึ้นเหนือเข้าสู่ประเทศจีน จากเมืองจิ่งหง เมืองผูเอ่อร์ เมืองยวี่ซี สู่นครคุนหมิง และลงใต้เชื่อมต่างประเทศคือ ลาวและไทย โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางบก โลจิสติกส์และคลังสินค้า การค้าระหว่างประเทศ การแปรรูปเพื่อการส่งออก วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
๑.๑.๒ เส้นทางเศรษฐกิจแนวลำน้ำจากท่าเรือจิ่งหง-ท่าเรือกวนเหล่ย อาศัยความได้เปรียบด้านการขนส่งทางเรือนานาชาติเชื่อมต่อกับประเทศลาว เมียนมาและไทย โดยมีท่าเรือจิ่งหงและท่าเรือกวนเหล่ยเป็นจุดสำคัญ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ การขนส่งทางน้ำ และการท่องเที่ยว
๑.๒ มุ่งสู่ "สองศูนย์กลาง" ได้แก่
๑.๒.๑ เขตความร่วมมือเศรษฐกิจบ่อหาน โดยอาศัยความได้เปรียบของเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหานที่ได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรและการตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา และไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การแปรรูปเพื่อการส่งออก การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน รวมถึงเร่งวางแผนสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) เพื่อให้กลายเป็นด่านระหว่างประเทศที่มีความทันสมัยเชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นเขตระดับแนวหน้าของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างจีน-ลาว
๑.๒.๒ เขตบริการอันทันสมัยเหมิ่งล่า โดยอาศัยตำบลเหมิ่งล่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจบริการ เช่น การเงิน โลจิสติกส์ ข่าวสารข้อมูล การรักษาพยาบาล สันทนาการ บ้านพักคนชรา เพื่อให้กลายเป็นเขตบริการการค้าระหว่างประเทศ ช่องทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ และเมืองแห่งการพักผ่อนเชิงนิเวศนานาชาติ
๑.๓ มุ่งครอบคลุม "ห้าพื้นที่ทำงาน" ประกอบด้วย
๑.๓.๑ พื้นที่เศรษฐกิจท่าเรือ เร่งพัฒนาการค้า ระบบขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพื่อให้กลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าและท่าเรือนานาชาติแม่น้ำโขง
๑.๓.๒ พื้นที่แปรรูปเพื่อการนำเข้าส่งออก เร่งสร้างเขตแปรรูปเพื่อการนำเข้าส่งออกที่ครบครัน โดยมีการแปรรูป การค้าและโลจิสติกส์ รวมในแหล่งเดียว
๑.๓.๓ พื้นที่วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว อาศัยความได้เปรียบของวัฒนธรรมใบลานชนเผ่าไทลื้อและนิเวศวิทยาของป่าฝนเขตร้อนในสิบสองปันนาเป็นสำคัญ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม อาทิ สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา แหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของประเทศ (ระดับ 5A) เขตชมวิวว่างเทียนซู่ (4A) และ สวนชาโบราณผูเอ่อร์ เพื่อเน้นการพัฒนาวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ และการศึกษาวิทยาศาสตร์ เพื่อให้กลายเป็นเขตสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์และแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
๑.๓.๔ พื้นที่เกษตร เร่งพัฒนาพืชเกษตรที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา ใบชา อ้อย มะรุม และผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น เพื่อให้กลายเป็นเขตสาธิตเกษตรที่โดดเด่น
๑.๓.๕ พื้นที่นิเวศ อาศัยความได้เปรียบของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติเขตฯ สิบสองปันนา และ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติข้ามพรมแดนจีน-ลาว เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนา เพื่อเร่งผลักดันการสร้างระบบควบคุมโรคระบาดตามแนวชายแดนจีน-ลาว ดำเนินกิจกรรมสาธิตระบบนิเวศวิทยาและการสร้างความปลอดภัยด้านนิเวศ และบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
๒. ข้อสังเกตต่อแนวคิดการพัฒนาภายใต้แผนการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๘ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อำเภอเหมิ่งล่ากลายเป็นพื้นที่รองรับการเชื่อมโยงทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว คมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒.๑ จากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ต่างก็ตั้งอยู่บนปลายทั้งสองด้านของเส้นทาง R3A ซึ่งหลายคนมองว่าใครที่มีความพร้อมและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่าก็ย่อมได้เปรียบ แต่หากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าประสบความสำเร็จมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนจำนวนมากตามที่คาดการณ์ไว้ และยังมีจุดพักสินค้าขนาดใหญ่และเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อนำเข้า-ส่งออกเตรียมรองรับความพร้อม ก็จะทำให้อำเภอเหมิ่งล่ากลายเป็นโกดังสินค้าขนาดใหญ่ที่พร้อมบุกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ อันจะทำให้ไทยกลายเป็นแค่ “ทางผ่าน” หากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยยังมีแรงดึงดูดนักลงทุนได้ไม่มากพอ
๒.๒ ความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน โดยจีนได้ร่วมมือกับ สปป.ลาว ในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อยกระดับให้กลายเป็น”เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อหาน (จีน) - บ่อเต็น (ลาว)” โดยตั้งเป้าไว้ว่าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ น่าจะได้รับการก่อสร้างเสร็จภายใน ๕ ปีข้างหน้า ซึ่งสังเกตได้จากเมืองคาสิโนที่ถูกปิดไปในฝั่งบ่อเต็น ปัจจุบันได้กลับกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นที่มีนายทุนจากจีนได้รับสัมปทาน เพื่อใช้พื้นที่ร่วมกันดังกล่าวเตรียมรองรับการขยายตลาดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
๒.๓ สำหรับทางออกของเรื่องนี้ จึงควรมีการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายบนสองปลายทางของเส้นทาง R3A โดยนำเสนออุตสาหกรรมที่ทั้งไทยและจีนมีความชำนาญ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวซึ่งไทยมีความถนัด หรือการคมนาคมและโลจิสติกส์ซึ่งจีนมีความถนัด ก็น่าจะทำให้ถนนเส้นดังกล่าวเกิดการพัฒนาบนความสมดุล และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-จีน
บทสรุป
ความสำคัญในการเชื่อมโยงจากประเทศจีนสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอเหมิ่งล่า ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน หากเดินทางด้วยรถยนต์โดยใช้เส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) จะต้องเดินทางออกจากจีนที่ด่านบ่อหานของอำเภอเหมิ่งล่า ผ่านด่านบ่อเต็นของลาว และออกจากด่านห้วยทรายของลาว เข้าด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทาง ๒๕๐ กม. ใช้เวลาเดินทางเพียง ๔ - ๕ ชม. หรือหากขนส่งสินค้าทางน้ำออกจากอำเภอเหมิ่งล่าที่ด่านกวนเหล่ย ล่องไปตามแม่น้ำโขง ถึงด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทาง ๓๖๐ กม. ใช้เวลาเดินทาง ๑ - ๓ วัน ซึ่งถือเป็นเส้นทางจากด่านชายแดนจีนถึงด่านชายแดนไทยที่สั้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบกหรือทางน้ำ ดังนั้น การพัฒนาของอำเภอเหมิ่งล่าภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของจีน จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพื่อนำมาขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/interesting-facts/detail.php?SECTION_ID=616&ID=1704
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/interesting-facts/detail.php?SECTION_ID=616&ID=17042
http://www.thaiembassy.org/kunming/th/thai-people/17366-ข้อมูลทั่วไปของมณฑลยูนนาน.html