bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑ มี.ค.๖๒ : ข้อตกลง ๘ ประการ จากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างจีน รัสเซียและอินเดีย

ข้อตกลง ๘ ประการ จากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างจีน รัสเซียและอินเดีย ที่เมืองอู่เจิ้น มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๗ ก.พ.๖๒ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าวหลังพบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และอินเดียว่า โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง ๓ ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และความร่วมมือระหว่างสามประเทศ โดยได้บรรลุข้อตกลงสำคัญ ๘ ประการ ได้แก่ 

        ๑.๑ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ภายใต้ภูมิหลังที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อน ซึ่งจีน รัสเซีย และอินเดียในฐานะประเทศใหญ่ของโลก และตลาดเศรษฐกิจใหม่ มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือ เพื่อนำมาซึ่งความมั่นคงและพลังบวกให้กับโลกมากยิ่งขึ้น
        ๑.๒ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จะยืนหยัดรักษาระบอบพหุภาคีอย่างแน่วแน่ รักษาระบบของโลกที่ศูนย์กลางเป็นสหประชาชาติ รักษากฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน
        ๑.๓ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การส่งเสริมการติดต่อประสานงานภายในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ เช่น กลุ่ม G20 การประชุมเอเชีย-ยุโรป ประเทศบริกส์ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และความร่วมมือเอเชียตะวันออก จะช่วยให้กลไกดังกล่าวพัฒนาตามทิศทางที่ถูกต้อง
        ๑.๔ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จะร่วมต่อสู้กับการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ส่งเสริมการติดต่อประสานงานด้านนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย และกระชับความร่วมมือที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความพยายามในการขจัดการก่อการร้ายและความคิดหัวรุนแรง
        ๑.๕ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องต่อต้านความคิดเอกภาคีนิยมและลัทธิการคุ้มครอง รักษาระบบการค้าพหุภาคีบนพื้นฐานที่เคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ การปฏิรูปองค์การการค้าโลกต้องยืนหยัดคุณค่าและหลักการพื้นฐาน โดยเฉพาะ “สิทธิพิเศษกับสิทธิที่แตกต่างกัน” ในด้านข้อมูลสารสนเทศและความมั่นคงทางไซเบอร์ ต้องเคารพหลักการการแข่งขันอย่างเสมอภาค
        ๑.๖ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องยืนหยัดการแก้ไขปัญหาในทุกด้านด้วยวิถีทางทางการเมืองและการเจรจา สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลและประชาชนอัฟกานิสถานในกระบวนการสันติภาพตามหลักการ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาวอัฟกานิสถานเป็นหลัก หวังว่าการพบปะระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ครั้งที่ ๒ จะมีผลคืบหน้าในประเด็นการปลอดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ โดยทั้งสามฝ่ายเห็นว่า ปัญหาเวเนซุเอลาควรให้ประชาชนชาวเวเนซุเอลาแก้ปัญหาด้วยการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ ไม่ควรใช้วิธีรุนแรง และต่อต้านการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร
        ๑.๗ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การพบปะระหว่างผู้นำสามประเทศมีความหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ เสนอให้มีการจัดการพบปะระหว่างผู้นำสามประเทศ เพื่อให้เกิดการชี้นำทางการเมืองกับความร่วมมือระหว่างสามฝ่ายอย่างต่อเนื่อง
        ๑.๘ ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จะส่งเสริมและขยายความร่วมมือระหว่างสามฝ่ายอย่างจริงจัง ศึกษาและจัดตั้งกลไกการพบปะระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสามฝ่าย จัดการหารือในหัวข้อพิเศษต่าง ๆ เช่น ปัญหาอัฟกานิสถาน และกิจการเอเชียแปซิฟิก จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการและบรรดาคนรุ่นใหม่ของสามประเทศ จีนเสนอให้หารือความร่วมมือในรูปแบบ จีน รัสเซีย อินเดีย รวมถึงการยกระดับอิทธิพลความร่วมมือของทั้งสามฝ่าย

๒. ข้อตกลง ๘ ประการดังกล่าว สอดคล้องรองรับต่อการพบปะอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำจีน รัสเซีย และอินเดีย เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย.๖๑ ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความร่วมมือระหว่างสามประเทศภายใต้สถานการณ์ใหม่ ซึ่งผู้นำสามประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า จะส่งเสริมการประสานงาน และความร่วมมือในเรื่องที่มีความเห็นพ้องต้องกัน ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาของโลก กล่าวคือ
        ๒.๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นว่า จีน รัสเซีย และอินเดีย ล้วนเป็นประเทศใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญของโลก และต่างเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญต่อกัน สามประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันกว้างขวาง และเป้าหมายการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน มีความรับผิดชอบสำคัญต่ออนาคตของทั้งภูมิภาคและของโลก ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน การพัฒนาร่วมกันและความร่วมมือที่ใกล้ชิดของสามประเทศ ถือเป็นกำลังที่มั่นคงและแน่นอน ที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั่วโลก
        ๒.๒ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เน้นว่า ทั้งสามประเทศต่างเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน รวมไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานที่เสมอภาคและให้ความเคารพต่อกัน
        ๒.๓ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เน้นว่า สามประเทศเป็นประเทศสำคัญของโลก มีภาระหน้าที่ร่วมกันในการคุ้มครองลัทธิพหุภาคี และรักษาระบบพหุภาคี

บทสรุป

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในปัจจุบันโลก ทำให้ทั้งประเทศจีน รัสเซียและอินเดีย ในฐานะที่เป็นประเทศทรงอิทธิพลต่อโลก และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง เห็นพ้องร่วมกันว่าจำเป็นต้องส่งเสริมการประสานความร่วมมือ และขับเคลื่อนความรับรู้ร่วมกัน เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก ทั้งนี้ สังคมโลกจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวคิดและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ร่วมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการติดต่อประสานงานภายในกรอบพหุภาคีต่างๆ

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.globaltimes.cn/content/1140412.shtml 

http://thai.cri.cn/20190228/2011ebac-2cb4-c10f-bfa0-28c345a4d8bb.html 

http://thai.cri.cn/20190228/ccb24a07-f7cd-4b5b-f546-9a5a4e973c0a.html 

http://thai.cri.cn/20181201/d12a8d67-4ee6-a499-8658-a2d1c31c4487.html 

http://www.globaltimes.cn/content/1140288.shtml