สรุปผลการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๖ ในหัวข้อ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" และ "ประเทศไทย ๔.๐" : สู่ความมั่นคง มั่งคั่งร่วม" (ภาควิชาการ ระหว่างวันที่ ๘ – ๙ พ.ย.๖๐) ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ผลสัมมนาฯ ในครั้งที่ ๗ (ภาควิชาการ) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๒ ส.ค.๖๑ ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ข้อคิดจากสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการสัมมนาฯ เมื่อปีที่แล้ว
๑.๑ ศาสตราจารย์ สวี่ สีเผิง (Xu Xipeng) อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวให้การต้อนรับ โดยหวังว่าเวทีสัมมนานี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
๑.๒ รองศาสตรจารย์ ดร.โภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวถึง ผลสำเร็จของจีนจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๙ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีน ที่สามารถเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของทุกประเทศที่ต้องประสานประโยชน์อย่างฉันมิตร รวมทั้งเป็นยุทธศาสตร์ที่ปฏิบัติได้จริงในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและได้ทุ่มเทเงินทุนก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงการพัฒนาทั้งทางบกและทางทะเลอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ
๑.๓ ศาสตรจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการสัมมนาที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาการวิจัยต่อยอดในเชิงลึก อันจะช่วยในการวางแผนและกำหนดนโยบายของรัฐบาลของทั้งสองประเทศต่อไป
๑.๔ นาย พิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความซับซ้อนและกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่เน้นนวัตกรรม ซึ่งท้าทายต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสอดคล้องในการเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมของจีนกับการปฏิรูปประเทศไทย ๔.๐ ที่เน้นเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจีนสามารถสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีและวิศวกรรมแก่ไทยได้
๑.๕ นาย หาน จิงอี้ (Han Jingyi) รองนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยเหมิน กล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนาเมืองเซี่ยเหมินในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะเมื่อเดือน พ.ค.๖๐ เมืองเซี่ยเหมินได้ลงนามเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดภูเก็ต
๑.๖ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความสัมพันธ์ไทย-จีนในทุกมิติจากการเยี่ยมเยือนในทุกระดับ และยกระดับความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงอย่างรอบด้านในภูมิภาคต่างๆ ของยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ซึ่งจะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐ ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
๑.๗ นาย สวี่ โย่วเซิง (Xu Yousheng) เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีช่วยสำนักกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งคณะรัฐมนตรี กล่าวถึง ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในการสัมมนาครั้งนี้ต่อความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ผ่านเส้นทางสายไหมซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย นอกจากนี้ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ ครั้งที่ ๑๙ ที่ได้เน้นการวางแผนให้ครอบคลุมการเป็นประชาคมการเมืองยุคใหม่ที่มีชะตากรรมร่วมกันเพื่อสร้างโลกใหม่ให้สวยงาม
๒. ปาฐกถาพิเศษ
๒.๑ ศาสตราจารย์ เหอ ย่าเฟย (He Yafei) คณบดีสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีช่วยสำนักกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งคณะรัฐมนตรี กล่าวถึง ความสอดคล้องของความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" กับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐ โดยเฉพาะการบูรณาการให้เกิดความสมบูรณ์ โดยยืนหยัดการพัฒนาอย่างสันติ และการสร้างความยุติธรรม
๒.๒ ศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ศิริไกร กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การเสริมสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัล มีการลงทุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือต่างๆ
๒.๓ นางปัทมา เธียรวิศิษฏ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor : EEC) ว่า จะเชื่อมโยงทั้งพื้นที่ภายในประเทศและภายนอกประเทศสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อันจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ เช่น หุ่นยนต์ และดิจิทัล เป็นต้น
๓. ในระหว่างการสัมมนาฯ เมื่อปีที่แล้ว มีการพบปะหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีของไทย (พลอากาศเอก ประจินฯ) กับรัฐมนตรีช่วยสำนักกิจการชาวจีนโพ้นทะเล โดยมีความเห็นที่สอดคล้องกันต่อโครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะจีนจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยในการวิจัยพัฒนา ซึ่งจะได้มีการปรึกษาหารือในรายละเอียดร่วมกันโดยคณะทำงานของทั้งสองประเทศต่อไป
บทสรุป
สำหรับในการสัมมนาฯ ครั้งที่ ๗ (ภาควิชาการระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๒ ส.ค.๖๑ ที่จังหวัดชลบุรี) ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิชาการฝ่ายไทยและฝ่ายจีนภายใต้ขอบข่าย ๓ หัวข้อย่อย ได้แก่ (๑) ยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาสังคม (Social Development Policy and Strategy) (๒) ยุทธศาสตร์และนโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้า (Industrial and Trade Policy and Strategy) และ (๓) การเชื่อมโยงแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมยุคใหม่กับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Connectivity of BRI and EEC) รวมทั้งข้อคิดจากพิธีปิดการสัมมนาฯ ในครั้งที่ ๗ อันเป็นการต่อยอดจากการสัมมนาฯ ครั้งที่ ๖ เมื่อปีที่แล้วนั้น จะได้นำเสนอต่อไป
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. ใน http://www.vijaichina.com/home