bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๑ ต.ค.๖๒ การลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างจีนกับปากีสถาน

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้พบปะเจรจากับนายอิมรัม อาห์เม็ด คาน เนียซี นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เมื่อวันที่ ๘ ต.ค.๖๒ ที่กรุงปักกิ่ง ขณะเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ ๘ – ๙ ต.ค.๖๒ พร้อมทั้งมีกำหนดการเข้าร่วมพิธีปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกปักกิ่ง ๒๐๑๙ โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้เป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างจีนกับปากีสถาน เช่น ด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้านความมั่นคง วัฒนธรรม การศึกษาและสื่อมวลชน เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน
        ๑.๑ นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวเน้นว่า จีนยินดีที่จะช่วยเหลือปากีสถานเท่าที่จะทำได้ ยินดีร่วมพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์กับปากีสถาน ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจจีนกับปากีสถานพัฒนาด้วยคุณภาพสูง ส่งเสริมความร่วมมือในด้านสิ่งปลูกสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจและการค้า การเงินและพลังงาน
        ๑.๒ นายอิมรัม อาห์เม็ด คาน เนียซี ได้แสดงความยินดีกับการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ ๗๐ ปี โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจปากีสถานมีความมั่นคงในปัจจุบันและได้ฟื้นฟูอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การช่วยเหลือและสนับสนุนของจีน สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพแบบเต็มวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง ระหว่างปากีสถานกับจีนที่แน่นแฟ้น

๒. ข้อสังเกต
        ๒.๑ การเยือนจีนของนายอิมรัม อาห์เม็ด คาน เนียซี ครั้งนี้ นับเป็นการเยือนจีนอีกครั้งภายในเวลาไม่ถึงครึ่งปี หลังจากเข้าร่วมการประชุมฟอรั่มสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือน เม.ย.๖๒
        ๒.๒ ปากีสถานกำลังให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในท้องถิ่นของปากีสถานเติบโตก้าวหน้า และสร้างโอกาสการทำงานให้กับคนหนุ่มสาว ดังนั้น การสร้างสรรค์ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน จึงมีความหมายสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจปากีสถาน เช่น โครงการพลังงานที่อยู่ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานนั้น ช่วยให้ปากีสถานแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงาน เป็นต้น
        ๒.๓ ปัจจุบัน การสร้างสรรค์ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานได้เข้าสู่ระยะที่สอง โดยเน้นถึงความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตรกรรม รวมทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือกวาดาร์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาและปฏิรูปปากีสถาน จะจัดตั้งกรมเฉพาะกิจระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

บทสรุป
จีนได้แสดงท่าทีที่ให้ความสำคัญอย่างสูงกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับปากีสถาน รวมทั้งยินดีใช้ความพยายามร่วมกับปากีสถาน ในการผลักดันความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ก้าวสู่ขั้นใหม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน และจะเป็นโอกาสดีของปากีสถานที่จะได้เรียนรู้ร่วมกันกับจีนในด้านสังคม เกษตรกรรมและด้านอื่นๆ ตลอดจนเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของจีนภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน อันจะสามารถเพิ่มจำนวนการผลิตด้านเกษตรกรรม ที่นอกจากจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคอีกด้วย

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1706699.shtml 
http://thai.cri.cn/20191009/e942ab0d-c622-843d-f57f-bd21e5dc945d.html 
http://thai.cri.cn/20191008/b4fb86a4-c62e-a8c9-4583-1dbb59e28644.html 
http://thai.cri.cn/20191009/a442e7e3-14a7-8eb7-75a9-aa832e2d381e.html 
http://thai.cri.cn/20190714/26a23463-3d21-47a4-2797-79fa33bd3d11.html 
http://thai.cri.cn/20181009/205b50f3-af55-f703-aabf-367e9597aa8e.html