โครงการพัฒนาเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า (Over-the-Horizon / OTH) ของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. มีรายงานความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการทหารของจีน โดยเฉพาะจากทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการพัฒนาเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า (Over-the-Horizon / OTH) ที่ได้เปิดเผยว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้กองทัพเรือของจีน จะสามารถตรวจพบภัยคุกคามจากฝ่ายศัตรูทั้งจากเรือ เครื่องบิน และขีปนาวุธ ได้อย่างรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาก โดยการอัพเกรดเทคโนโลยีเรดาร์ และได้พัฒนาเรดาร์ขนาดกะทัดรัดล้ำสมัยสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งทำให้สามารถปฏิบัติการตรวจตราในพื้นที่กว้างใหญ่ได้มากขึ้น
๒. โครงการพัฒนาเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า ได้ตกเป็นเป้าความสนใจของสาธารณชนเมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์แห่งชาติให้แก่ นายหลิว หย่งถ่าน (Liu Yongtan) ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาวิศวกรรมอิเลคทรอนิกส์และสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน เมื่อวันอังคารที่ ๘ ม.ค.๖๒ ที่มหาศาลาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง โดย นายหลิวฯ ได้กล่าวว่า เรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้ารุ่นใหม่นี้ ช่วยขยายพิสัยพื้นที่ตรวจการณ์ของกองทัพ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ อันจะทำให้กองทัพสามารถตรวจการณ์พื้นที่ได้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมากองทัพจีนได้ใช้เทคโนโลยีเก่า ที่สามารถตรวจการณ์และติดตามได้เพียงพื้นที่แคบๆ ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของเขตแดนทางทะเลของจีน
๓. ความเป็นมาและพัฒนาการระบบของเทคโนโลยีใหม่ในโครงการพัฒนาเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า
๓.๑ ความเป็นมา สืบเนื่องจากการที่อดีตสหภาพโซเวียตได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) ในขณะที่สหรัฐฯ ก็เป็นประเทศผู้บุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยเช่นกันในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ซึ่งการพัฒนาเรดาร์ OTH ที่มีฐานปฏิบัติการบนพื้นดินในระหว่างยุคสงครามเย็น ทำให้สามารถเฝ้าระวังภัยในพิสัยพื้นที่นับพันๆ กิโลเมตร โดยการส่งคลื่นวิทยุสู่ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere) และสะท้อนกลับมายังพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ฐานปฏิบัติการเรดาร์เหล่านี้หลายแห่งถูกปิดไป เนื่องจากช่องโหว่ของระบบ ที่เรดาร์ต้องใช้พลังงานมหาศาลและอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีอย่างมาก จึงทำให้นักวางแผนการทหารต้องหันมาใช้ระบบควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ
๓.๒ พัฒนาการระบบของเทคโนโลยีใหม่ จะเป็นเรดาร์ OTH ที่ปฏิบัติการจากเรือได้ ซึ่งจะช่วยให้การรวบรวมข้อมูลของกองทัพเรือในพื้นที่สำคัญๆ ได้มากขึ้น โดยสามารถตรวจตราภายในพิสัยกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร และสามารถปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๑ ล้านไมล์ทะเล หรือเท่ากับ ๓.๔ ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดของประเทศอินเดีย แต่จีนก็ไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่มีเทคโนโลยีดังกล่าว ในขณะที่พิสัยเรดาร์ของเรือพิฆาตกองทัพเรือสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร และเรดาร์ E-3 Sentry ของโบอิ้ง สามารถไปไกลกว่า ๖๐๐ กิโลเมตร ก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทผลิตอาวุธแห่งสหรัฐฯ Raytheon Company ซึ่งได้รับสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันนี้ เมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙)
บทสรุป
โดยหลักการพื้นฐานเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า หรือ Over-the-horizon (OTH) ใช้หลักการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ (Ionospheric Reflection) ซึ่งบางครั้งจึงเขียนเป็น OTHR โดยสัญญาณวิทยุที่ถูกส่งออกไปยังชั้นบรรยากาศจะถูกสะท้อนกลับมายังภาคพื้นดิน จากนั้นจำนวนของสัญญาณเพียงเล็กน้อยก็จะสะท้อนจากพื้นดินกลับไปที่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง และสัญญาณเพียงเล็กน้อยบางส่วนก็จะสะท้อนกลับไปที่สถานีส่ง (Broadcaster) ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ระบบเรดาร์แบบ OTH ดังกล่าว ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะทางการทหารเท่านั้น แต่ถูกนำมาใช้ในหน่วยงานของพลเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ติดทะเล (Coastal Countries) ซึ่งได้มีการติดตั้งระบบเรดาร์อยู่ในทะเลและตามชายฝั่ง เพื่อปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษจากโจรสลัด จากพวกลักลอบค้าของเถื่อน และจากการทำประมงผิดกฎหมาย แต่ที่น่าสนใจคือ ระบบเรดาร์ดังกล่าวของจีน ภายใต้โครงการพัฒนาเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้า (Over-the-Horizon / OTH) ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดล้ำสมัยและสามารถติดตั้งบนเรือบรรทุกเครื่องบินได้
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.chinadaily.com.cn/a/201901/08/WS5c340d7ca31068606745f748.html
https://mgronline.com/china/detail/9620000003063
https://www.youtube.com/watch?v=e2UdM44vz88
http://www.chinavitae.com/biography/Liu_Yongtan
http://2013.gun.in.th/index.php?topic=72762.255
https://en.wikipedia.org/wiki/Over-the-horizon_radar