bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๒ ก.ค.๖๒ การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลจีน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. หลักการ โดยพิจารณาหามาตรการขจัดความยากจน ด้วยการเปลี่ยน “ความอ่อนแอเป็นศักยภาพ” พร้อมกับปรับความสมดุลการพัฒนาสำหรับมาตรฐานความยากจนที่รัฐบาลจีนกำหนดนับตั้งแต่ปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) เพื่อยกระดับรายได้โดยเฉพาะของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้นเป็น ๒,๘๐๐ หยวน ต่อปี หรือ วันละ ๗.๖๗ หยวน (วันละประมาณ ๓๕ บาท)

๒. เป้าหมาย มุ่งมั่นขจัดความยากจนและสร้างสังคมจีนให้คนจีนกินดีอยู่ดีโดยถ้วนหน้าภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ด้วยการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท

๓. ขั้นตอนในการดำเนินการ โดยอยู่ภายใต้กรอบ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบท ฉบับปี ๒๐๑๘ – ๒๐๒๒” (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) และ “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนระยะ ๓ ปี” (โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค.๖๑)
        ๓.๑ ในระยะ ๓ ปีข้างหน้า (ภายในปี ๒๐๒๑ หรือ พ.ศ.๒๕๖๔) ต้องทำให้ประชากรยากจนในชนบท ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ ๓๐ ล้านคน พ้นจากความยากจน โดยรวบรวมกำลังสนับสนุนปฏิบัติการแก้ไขความยากจนในเขตพื้นที่ที่ยากจนที่สุด รวมทั้งพยายามปรับปรุงสภาพการพัฒนาของเขตที่ยากจนที่สุด และทุ่มกำลังแก้ไขความลำบากของประชาชนในเขตยากจนที่สุด ตลอดจนให้นโยบายสิทธิพิเศษมากขึ้นแก่ประชาชนในเขตยากจนที่สุด
        ๓.๒ ในจำนวนผู้ประกอบการเกษตรในเขตชนบททั่วประเทศ ๙๘% เป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดกลางและขนาดเล็ก พื้นที่การเพาะปลูกของพวกเขาเหล่านั้นคิดเป็นกว่า ๗๐% ของพื้นที่การเพาะปลูกทั่วประเทศ ทั้งนี้ งานสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจชนบทคือ ต้องพัฒนากิจการการเกษตรต่าง ๆ ในเขตชนบทให้เจริญขึ้นอย่างแท้จริง โดยสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดกลางและขนาดเล็ก และส่งเสริมการพัฒนาสหกรณ์เกษตรกรให้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

๔ กรณีตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา
        ๔.๑ ในพื้นที่ชนบท เช่น เขตพื้นที่ของอำเภอหลงอัน ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งเสริมการปลูกส้มจี๊ดที่เหมาะกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น พร้อมอบรมให้ความรู้ในการเพาะปลูก และมีนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือต่าง ๆ แบบครบวงจร โดยเฉพาะการตลาด ทำให้เกษตรกรอำเภอหลงอันมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพ้นจากความยากจน
        ๔.๒ ในพื้นที่เมือง เช่น เขตพื้นที่พัฒนาผู่ตง ในมหานครเซี่ยงไฮ้ (ซึ่งกำหนดกรอบเวลาในการพัฒนา ๓๐ ปี แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง ๆ ละ ๑๐ ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๓ พ.ค.๓๓) สำหรับช่วงแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๔๓ เป็นช่วงการพัฒนาที่รวดเร็ว โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก และมีนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลาง สำหรับช่วงที่สองระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๔ ถึง พ.ศ.๒๕๕๓ คือขั้นตอนการปฏิรูปที่ครอบคลุม นำร่องในการสร้างและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจการตลาดเชิงสังคมนิยมให้สอดคล้องกับแนวทางสากล และช่วงที่สามซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ – ๒๕๖๓ (และยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน) คือขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีชั้นนำของประเทศจีน (FTZ) ซึ่งจะช่วยยกระดับนวัตกรรมขั้นสูงและการพัฒนาในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บทสรุป
เมื่อปี ๒๐๑๘ ( พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ ๔๐ ปีแห่งการดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำว่า ในการดำเนินการให้ประชากรยากจนในชนบทพ้นจากสภาพยากจนก่อนปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) นั้น ถือเป็นคำมั่นสัญญาหนักแน่นที่ได้ให้ไว้ เป็นคำมั่นสัญญาที่เป็นมั่นเป็นเหมาะเชื่อถือได้ เมื่อถึงปี ๒๐๒๐ ทั่วสังคมจะต้องร่วมกันลงมือปฏิบัติ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างตรงจุด เพื่อให้ประสบความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง การบรรลุเป้าหมายให้ประชาชนที่ยากจนทั้งหมดพ้นจากภาวะยากจนนั้น จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ยาวนานหลายพันปี จึงขอให้ประชาชนร่วมกันทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่มีความหมายสำคัญยิ่งต่อประชาชาติจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
หนังสือ เรื่อง “สี จิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ปี พ.ศ.๒๕๕๙
เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. http://www.vijaichina.com/articles/998  

สำนักข่าว CRI ของจีนได้แก่ http://thai.cri.cn/247/2018/06/01/232s267654.htm 
http://thai.cri.cn/247/2018/03/19/225s265413.htm   
http://thai.cri.cn/247/2018/02/14/302s264304.htm 
http://thai.cri.cn/247/2017/10/18/102s259410.htm 
http://thai.cri.cn/247/2017/10/18/102s259394.htm 
http://thai.cri.cn/247/2017/12/11/230s261680.htm 
http://thai.cri.cn/247/2017/10/20/101s259556.htm