bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๕ ก.พ.๖๒ : ท่าทีและจุดยืนของจีนในการตอบโต้สหรัฐฯ

ท่าทีและจุดยืนของจีนในการตอบโต้สหรัฐฯ และปกป้องกระบวนการร่วมสร้างสรรค์ตามโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ขณะที่ นายหลิว เฮ่อ กรรมการกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และผู้ประสานงานฝ่ายจีนในการเจรจาด้านเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ กับนายโรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้จัดการเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในวันที่ ๑๔ – ๑๕ ก.พ.๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ.๖๒ นางหวา ชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้แถลงข่าวว่า
        ๑.๑ การที่สหรัฐฯใช้ความพยายามและทำทุกวิถีทางในการตั้งโทษที่ปราศจากมูลความผิดใดๆ และ “ทฤษฎีการคุกคามจากจีน” ใส่ร้ายและโจมตีบริษัทจีนไม่ให้พัฒนาอย่างเป็นปกติ และทำลายสิทธิความร่วมมือและผลประโยชน์ต่างๆ เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งศีลธรรมและความชอบธรรม ไม่มีท่าทีอันพึงมีของมหาประเทศโดยสิ้นเชิง เชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่รับรู้ได้ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงและความคิดที่จะเป็นเจ้าครองโลกของสหรัฐฯอย่างชัดเจน ทั้งนี้ มีการรายงานว่า นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวขณะพบปะกับนายปิเตอร์ ซิจจาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการีว่า หากฮังการีคิดติดตั้งอุปกรณ์ของหัวเหว่ย จะสร้างความลำบากให้กับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ
        ๑.๒ จีนได้เร่งรัดประเทศที่เกี่ยวข้องให้หยุดใส่ร้ายจีนเรื่อง “การขโมยความลับทางอินเตอร์เน็ต” และการโจมตีของแฮกเกอร์ อีกทั้งหยุดใช้ปฏิบัติการและถ้อยคำที่มุ่งทำลายผลประโยชน์ของจีนและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อตะวันตกบางสำนักที่รายงานว่า มีแฮกเกอร์ที่ทำงานให้กับหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติจีนแอบเข้าเจาะความลับบริษัทซอฟต์แวร์ของนอร์เวย์ และกล่าวหาว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์แฮกเกอร์ทั่วโลกที่ใช้ชื่อว่า “คลาวด์ฮอปเปอร์ (Cloud hopper)” ที่มีจีนอยู่เบื้องหลัง เพื่อขโมยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและความลับทางพาณิชย์ (ในขณะที่มีการรายงานข่าวว่า ออสเตรเลียกำลังตรวจสอบเกี่ยวกับเหตุการณ์กรณีเครือข่ายของรัฐสภาได้ถูกแฮกเกอร์โจมตี ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับจีนหรือไม่)
        ๑.๓ ในกระบวนการร่วมสร้างสรรค์ตามโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI โดยจีนไม่เคยบังคับประเทศใด และก็ไม่เคยเพิ่มเงื่อนไขที่รับไม่ได้ใดๆ ทุกโครงการเป็นผลที่เกิดจากการหารือระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเที่ยงธรรม โดยในทุกวันนี้ มีกว่า ๑๕๐ ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศลงนามเอกสารความร่วมมือว่าด้วย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI กับจีน ซึ่งโครงการความร่วมมือต่างๆ ได้ประสบกับความสำเร็จ และเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศตามรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ได้อย่างดี

๒. ข้อสังเกต ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์จีนออกประกาศเกี่ยวกับสถิติข้อมูลที่ระบุว่า ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ได้ขยายวงกว้าง การลงทุนระหว่างกันมีเพิ่มขึ้น และในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) จีนจะเปิดเสรีทางการตลาดมากขึ้น และจะเดินหน้าพัฒนาโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI โดยผ่านงานมหกรรมการนำเข้าระหว่างประเทศของจีน และเวทีอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ยอดการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างจีนกับประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่ง เส้นทาง” หรือ BRI คิดเป็นเงิน ๑.๓ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๑๖.๓% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าอัตราการขยายตัวด้านการค้าต่างประเทศของจีนในระยะเดียวกัน ๓.๗%

บทสรุป

จากการแถลงข่าวของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนดังกล่าว ได้แสดงถึงท่าทีของจีนที่เป็นประเทศผู้สนับสนุน หรือผู้พิทักษ์ และผู้ปฏิบัติตามแนวคิดพหุภาคีอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ โดยเฉพาะการยืนหยัดเกี่ยวกับการปฏิรูปและการเปิดประเทศ ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจโลกที่มีความเปิดกว้างในระดับสูงขึ้น

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinaembassy.or.th/eng/fyrth/t1637290.htm

http://thai.cri.cn/20190213/315650d2-9bff-bd4d-2681-fb917585397f.html 

http://thai.cri.cn/20190213/60367f19-2d49-50ba-f8b8-8d0499bf6c59.html 

http://thai.cri.cn/20190125/1f8ceafb-85ab-ca3e-e6fe-3aabb1949f57.html 

http://thai.cri.cn/20190210/cdd5f9a8-d764-b7fc-3018-97f7925fa29f.html