bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา (วันศุกร์ที่ ๑๖ ธ.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมนานาชาติว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์และการศึกษาปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) เมื่อวันที่ ๕ ธ.ค.๖๕

     จีนศึกษา (วันศุกร์ที่ ๑๖ ธ.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมนานาชาติว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์และการศึกษาปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) เมื่อวันที่ ๕ ธ.ค.๖๕ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของจีน คณะกรรมการแห่งชาติจีนว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จัดขึ้นทางออนไลน์ ภายใต้หัวข้อการประชุมคือ "การนำปัญญาประดิษฐ์มาเสริมศักยภาพครูเพื่อนำไปสู่การยกระดับการเรียนการสอน“

     นายหวย จิ้นเผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน ได้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์​ (AI)​ กำลังนำมนุษย์ไปสู่ยุคใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร การบูรณาการข้ามพรมแดน รวมทั้งการสร้างสรรค์ร่วมกันและการแบ่งปัน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการสำรวจเส้นทางใหม่สำหรับ​ AI​ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอน การเสริมศักยภาพของครู การส่งเสริมการยกระดับการสอน การใช้ประโยชน์จากการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม และการส่งเสริมการศึกษาให้ครอบคลุมมากขึ้น มีความเสมอภาคมากขึ้นและมีคุณภาพที่สูงขึ้น

     ทั้งนี้ นายหวย จิ้นเผิง กล่าวเน้นว่า รัฐบาลจีนยืนยันเสมอที่จะให้การศึกษาอยู่ในลำดับที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยถือว่าการสร้างบุคลากรผู้สอนเป็นงานพื้นฐานของการพัฒนาการศึกษา รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก​ AI​ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้าง การพัฒนา และการคุ้มครองความเป็นอยู่ที่ดี การส่งเสริมการสร้างระบบการศึกษาที่เสมอภาค ทั่วถึง และยืดหยุ่นผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคุณภาพและความสมดุลของการศึกษา โดยเพิ่มประสิทธิภาพของรูปแบบในการกำกับดูแลการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพของครู

     นายหวย จิ้นเผิง เสนอว่า ทุกประเทศควรทบทวนความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของการศึกษาจากมุมมองของการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ เสริมสร้างการวางแผนโดยรวม และส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา เคารพและแสดงบทบาทนำอย่างเต็มที่ของครูในการส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษารวมทั้งให้ครูใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาและการสอน การเสริมสร้างและการแบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษาดิจิทัล การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการอ้างอิงแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาดิจิทัล การรวบรวมภูมิปัญญาและความแข็งแกร่งของครูจากทั่วทุกมุมโลก การปรับตัวเข้ากับความต้องการใหม่ๆ ของการพัฒนาการศึกษาในยุคดิจิทัลให้ดีขึ้น และสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับโลก

ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://edu.china.com.cn/2022-12/06/content_78553214.htm )