มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๒ ส.ค.๖๒ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ร่วมกับ ดร.สุพรหมณยัม ชัยศัยกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เป็นประธานในการประชุมกลไกแลกเปลี่ยนบุคลากร และวัฒนธรรมระดับสูงระหว่างจีน-อินเดีย ครั้งที่ ๒ ที่กรุงปักกิ่ง โดยในการประชุมฯ ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจากหน่วยงานการศึกษา การอนุรักษ์วัฒนธรรมและโบราณวัตถุ การท่องเที่ยว สื่อมวลชน เยาวชน กีฬา ท้องถิ่น ภาพยนตร์และโทรทัศน์ คลังสมอง และ ยาแผนโบราณ ของทั้งสองประเทศ ต่างรายงานความคืบหน้าล่าสุดของความร่วมมือในด้านต่างๆ ภายหลังจัดการประชุมกลไกความร่วมมือครั้งแรกเป็นต้นมา รวมถึงแถลงแผนการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในอนาคต ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามใน “แผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศจีนและอินเดีย ปี ๒๐๒๐”
๒. ในวันเดียวกันนั้น (วันที่ ๑๒ ส.ค.๖๒) ดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้เข้าพบนายหวาง ฉีซาน รองประธานาธิบดีของจีน
๒.๑ นายหวาง ฉีซาน กล่าวเน้นว่า จีน-อินเดียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของกันและกัน เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยาวนานของโลกตะวันออก อีกทั้งเป็นประเทศใหญ่ของโลก ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศต่างอยู่ในช่วงสำคัญของการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อให้มีความเจริญรุ่งเรืองใหม่ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-อินเดียเป็นด้านสำคัญของการไปมาหาสู่กันแบบครบวงจรของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายควรใช้กลไกการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระดับสูงให้ดี เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปูพื้นฐานด้านความสัมพันธ์ให้มั่นคงยิ่งขึ้น
๒.๒ ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกร กล่าวเน้นว่า อินเดียและจีนได้แสดงบทบาทสำคัญและมีเอกลักษณ์ในด้านการเมืองทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายให้ความเคารพและเอาใจใส่กันและกันมาโดยตลอด อินเดียยินดีกระชับการติดต่อกับจีน เพื่อขจัดความขัดแย้งกันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ กับจีนให้มากยิ่งขึ้น
๓. ข้อสังเกต ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย.๖๒ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้พบปะกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่กรุงบิชเคก ประเทศคีร์กีซสถาน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวเน้นว่า จีน-อินเดียควรยืนหยัดความเชื่อมั่นว่า ทั้งสองฝ่ายจะนำโอกาสมาสู่แต่ละฝ่ายและไม่เป็นภัยคุกคามต่อกัน โดยควรเสริมความไว้วางใจต่อกันและขจัดข้อขัดแย้งอย่างเหมาะสม และควรขยายช่องทางความร่วมมือให้กว้างขึ้น อีกทั้งยังเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน ศักยภาพการผลิต และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังร่วมกันผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค รวมถึงการสร้างสรรค์ช่องทางเศรษฐกิจจีน-อินเดีย-เมียนมา เพื่อบรรลุการพัฒนาร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ควรเสริมการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการรักษาเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ จีนและอินเดียควรร่วมกันรักษาการค้าเสรีและลัทธิพหุภาคี โดยรักษาสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศกำลังพัฒนา
บทสรุป
แม้ว่าทั้งจีนและอินเดียจะยังมีข้อขัดแย้งในปัญหาพรมแดนอยู่ก็ตาม ดังกรณีเมื่อวันที่ ๖ ส.ค.๖๒ ที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน (นางหวา ชุนอิ๋ง) ได้กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอินเดียประกาศตั้ง “เขตขึ้นตรงต่อส่วนกลางลาดัก” ซึ่งมีอาณาเขตทับซ้อนกับดินแดนของจีน แต่การที่จีนกับอินเดียการประชุมกลไกแลกเปลี่ยนบุคลากร และวัฒนธรรมระดับสูงระหว่างกันดังกล่าวในข้างต้น โดยมุ่งส่งเสริมการเสวนาและแลกเปลี่ยนทางอารยธรรมและวัฒนธรรมให้มากขึ้น อันจะสามารถเพิ่มพูนความเข้าใจและสร้างมิตรภาพที่มีมาแต่ดั้งเดิมระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และจะช่วยลดความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อกันให้ลดน้อยลงได้แนวทางหนึ่ง นอกจากนี้ การที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันที่จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือในอนาคต โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาร่วมกันต่อไป
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
http://thai.cri.cn/20190813/65e0834c-ab8b-b373-6233-af647b042a5d.html
http://thai.cri.cn/20190813/b59ba02a-8f45-fd83-782c-5808de30dbc6.html
http://thai.cri.cn/20190614/6cdd252e-a8ee-721b-df9c-b5a631184df6.html
http://thai.cri.cn/20190506/aec0a733-b471-40ce-8084-89259b9920a4.html
http://thai.cri.cn/20190807/cb0938bc-e0bf-7bc9-a119-aa2ad5607c27.html
https://www.youtube.com/watch?v=7mty0wTVkRc
https://blog.forumias.com/article/9-pm-current-affairs-brief-august-13-2019