จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๖ เม.ย.๖๔ คณะรัฐมนตรีจีน ได้จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของการจัดตั้งนโยบายและระบบท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน รวมทั้งการลงทุนของต่างชาติในเขตท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน เมื่อวันที่ ๑๒ เม.ย.๖๔ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายฉง เลี่ยง (丛亮) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (国家发展改革委副主任) ได้แนะนำความคืบหน้าของการจัดตั้งนโยบายและระบบท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานว่า ในการส่งเสริมการจัดตั้งนโยบายท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานและกรอบการทำงานอย่างเร่งด่วนงานที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปสามารถสรุปได้ว่าเป็น "๓ ประเด็นเฉพาะและหนึ่งจุดเน้น" (“三专一重”) "๓ ประเด็นเฉพาะ" (“三专”) คือการประกาศใช้นโยบายพิเศษ ๓ ประการสำหรับท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน และ “หนึ่งจุดเน้น” (“一重”) คือการจัดระเบียบและส่งเสริมการก่อสร้างโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน
๒. นายเฝิง เฟย (冯飞) ผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน (海南省省长) กล่าวว่า ช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา การลงทุนของต่างชาติในเขตท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไห่หนานกำลังกลายเป็นเขตที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดยได้บรรลุการเติบโตระดับสูง “เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” (“倍增”) ใน ๓ ประการ ได้แก่
๒.๑ ประการแรก คือ ช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ขนาดการใช้ทุนต่างชาติที่เป็นจริงเพิ่มขึ้น ๑ เท่าทุกปี โดยการลงทุนต่างชาติใน ๓ ปีที่ผ่านมา มีกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการลงทุนทั้งหมดตั้งแต่เขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนานจัดตั้งขึ้น
๒.๒ ประการที่ ๒ คือ ปีที่แล้ว วิสาหกิจทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นใหม่ในไห่หนานมีกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง ซึ่งเป็นประมาณ ๓ เท่าของปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)
๒.๓ ประการที่ ๓ คือ แหล่งที่มาทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ปัจจุบัน มีประเทศต่างๆ กว่า ๘๐ ประเทศและภูมิภาครวมทั้งรัสเซียลงทุนในไห่หนาน
๓. เกาะไห่หนาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของจีน ล้อมรอบด้วยทะเลจีนใต้ มีพื้นที่ประมาณ ๓.๕ หมื่นตารางกิโลเมตร ทางทิศเหนือของไหหลำมีช่องแคบโฉงโจวกั้นระหว่างไหหลำกับมณฑลกวางตุ้ง ทางทิศตะวันตกมีอ่าวเหนือหรืออ่าวเป่ยปู้ติดกับประเทศเวียดนาม ทิศตะวันออกและทิศใต้หันหน้าเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) จีนประกาศจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีไหหลำ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะ จนถึงวันที่ ๑ มิ.ย.๖๓ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนแม่บทว่าด้วยการสร้างเมืองท่าการค้าเสรีไหหลำ โดยเน้นดำเนินการในรูปแบบ “๖+๑+๔” (โดย ๖ หมายถึง การอำนวยความสะดวกด้านการค้าเสรี การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการหมุนเวียนของทุนข้ามชาติ การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้าออกของผู้คน การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และการประกันความปลอดภัยและความเป็นระเบียบด้านการหมุนเวียนของข้อมูล สำหรับ ๑ หมายถึง การสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยเน้นการใช้ประโยชน์ความได้เปรียบและเอกลักษณ์ของไหหลำ ทุ่มเทพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบริการที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ส่วน ๔ หมายถึง การเสริมสร้างระบบในสี่ด้าน ได้แก่ ด้านการเก็บภาษี ด้านการบริหารจัดการทางสังคม ด้านระบบกฎหมาย และด้านการป้องกันและควบคุมความเสี่ยง)
บทสรุป
เป้าหมายในการพัฒนาเมืองท่าการค้าเสรีไห่หนาน ได้กำหนดไว้เป็น ๓ ระยะคือ ระยะที่ ๑ เมื่อถึงปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) ได้สร้างระบบนโยบายและกลไกสำหรับเมืองท่าการค้าเสรีที่ถือความสะดวกและอิสระด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญในขั้นพื้นฐาน ระยะที่ ๒ เมื่อถึงปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) จะพัฒนาไห่หนานให้กลายเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มีความได้เปรียบกว่าด้านการเปิดสู่ภายนอกทางเศรษฐกิจของจีน และ ระยะที่ ๓ เมื่อถึงกลางศตวรรษที่ ๒๑ ไห่หนานจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองท่าการค้าเสรีระดับสูงที่มีอิทธิพลต่อทั่วโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
https://www.sohu.com/a/460336115_177992
http://www.xinhuanet.com/politics/2021-04/13/c_1127322306.htm
http://www.gov.cn/zhengce/2020-06/01/content_5516608.htm
http://hainan.sina.com.cn/news/hnyw/2020-06-08/detail-iircuyvi7310138.shtml