จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๗ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนายอู๋ เจียงห้าว (Wu Jianghao) อธิบดีกรมกิจการเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ที่ได้กล่าวถึงการประชุมอาเซียนบวกสาม (APT) วาระพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย.๖๓ ว่าทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจมากขึ้นในการดำเนินความร่วมมือและยังทำให้แนวทางความร่วมมือในภูมิภาคมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. กรณีที่ทุกฝ่ายมีความมั่นใจมากขึ้นในการดำเนินความร่วมมือนั้น อธิบดีกรมกิจการเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ให้ทัศนะว่า
๑.๑ ข้อเสนอและข้อริเริ่มของจีนได้รับการตอบรับที่ดีและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้บรรยายสรุปประสบการณ์ของจีนในการประสานการป้องกัน การควบคุมการระบาดของโรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม อีกทั้งยังได้มีข้อเสนอและข้อริเริ่มที่สำคัญเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค การยกระดับสาธารณสุข การฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการรับมือกับความเสี่ยงและการท้าทายในด้านต่างๆ
๑.๒ ผู้นำทุกประเทศที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การจัดประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในยามที่ทุกฝ่ายกำลังรับมือกับการระบาดของโรค โดย ๑๐ ประเทศในอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต้องกระชับความร่วมมือ ร่วมกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ในขณะเดียวกัน ยังต้องรักษาความคล่องตัวของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทาน พยายามฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
๑.๓ ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้มีความเห็นร่วมกันในหลายด้านที่สำคัญ เช่น การยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และการยกระดับการบริหารด้านสาธารณสุขให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ต้องไม่ให้มีการทำลายชื่อเสียงของประเทศอื่น และต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศอื่น ต้องร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและประชาคมระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของโลก
๒. กรณีที่ได้ทำให้แนวทางความร่วมมือในภูมิภาคมีความชัดเจนมากขึ้นนั้น อธิบดีกรมกิจการเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ให้ทัศนะว่า
๒.๑ การที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกระชับความร่วมมือในการวิจัย พัฒนายารักษาโรคและวัคซีน รวมทั้งจะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันด้านเทคโนโลยี เพื่อให้หลักประกันต่ออุปทานด้านยารักษาโรค เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ชนิดอื่น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะหารือเรื่องการนำเงินทุนส่วนหนึ่งจากกองทุนความร่วมมืออาเซียน-จีน และกองทุนความร่วมมืออาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจัดตั้งกองทุนพิเศษ เพื่อสนับสนุนประเทศอาเซียนรับมือกับการระบาดของโรค
๒.๒ การที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีความหลากหลายในด้านต่างๆ และแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยต้องเสริมบทบาทในการรับมือกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขของกลไกที่มีอยู่แล้วของ ๑๐ ประเทศในอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และของ ๑๐ ประเทศในอาเซียนเอง นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังได้หารือในการจัดตั้งกลไกสำรองเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำรองไว้ไม่เพียงพอ
๒.๓ การที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะพยายามลดผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจ และสังคม โดยจะรักษาการติดต่อไปมาหาสู่กันด้านการค้า การลงทุน และการเปิดตลาด รวมทั้งความคล่องตัวของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งจะใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจะให้การสนับสนุนมากขึ้นแก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชนกลุ่มด้อยโอกาส และจะระมัดระวังต่อความเสี่ยงทางการเงินที่แฝงอยู่ ทั้งนี้ ทุกฝ่ายยินดีที่จะให้องค์กรการเงินพหุภาคีต่างๆ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ใช้มาตรการสนับสนุนทางการเงินต่อการรับมือกับการระบาดของโรค และการลดความเสี่ยงด้านต่างๆ
บทสรุป
จีนได้แสดงท่าทีที่มีความพอใจต่อผลการประชุมครั้งนี้ โดยยินดีที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกฝ่าย และจะใช้ปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเอาชนะการต่อสู้กับการระบาดของโรค โดยการยกระดับสาธารณสุข และฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยเร็ว ทั้งนี้ การประชุมอาเซียนบวกสาม (APT) วาระพิเศษครั้งนี้ นับเป็นการประชุมที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ข้อริเริ่มของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เสนอให้ประชาคมโลกร่วมแรงร่วมใจกันในการรับมือกับการระบาดของโรค และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้านนั้น ได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้น
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์