ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค.๖๒ สำนักงานสารนิเทศของคณะรัฐมนตรีจีน ได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยเรื่องธัญญาหารของจีน ซึ่งเป็นสมุดปกขาวว่าด้วยธัญญาหารฉบับที่ ๒ ของรัฐบาลจีน ต่อจากฉบับแรกที่ออกในปี ๑๙๙๖ (พ.ศ.๒๕๓๙) โดยนายจาง อู้เฟิง อธิบดีกรมสำรองธัญญาหารและวัสดุแห่งชาติจีน ระบุว่า หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ต.ค.๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) รัฐบาลจีนได้มุ่งเน้นจัดการแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชนเป็นภาระหน้าที่สำคัญอันดับแรกในการบริหารบ้านเมือง โดยในสมุดปกขาวว่าด้วยธัญญาหารฉบับใหม่นี้ ได้ใช้สถิติและข้อเท็จจริงจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ว่า รัฐบาลจีนไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความอดอยากของประชากรจำนวน ๑,๔๐๐ ล้านคนเท่านั้น หากยังส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และโภชนาการของประชาชนให้มีระดับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
๒. สมุดปกขาวว่าด้วยเรื่องธัญญาหารของจีนฉบับนี้ มีความยาว ๑๒,๐๐๐ คำ โดยแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน ได้แก่ (๑) บทนำ (๒) ผลสำเร็จด้านความปลอดภัยด้านธัญญาหาร (๓) หนทางความปลอดภัยด้านธัญญาหารที่มีเอกลักษณ์ของจีน (๔) การเปิดกว้างและความร่วมมือระหว่างประเทศ (๕) อนาคตกับนโยบาย และ (๖) บทสรุป ซึ่งสมุดปกขาวฉบับนี้ นอกจากจะได้บรรยายภาพรวมทั่วไปเกี่ยวกับผลสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์ของจีน เพื่อรักษาความปลอดภัยในด้านธัญญาหาร รวมทั้งนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของจีนเพื่อประกันความปลอดภัยด้านธัญญาหารแล้ว ยังได้ตอกย้ำจุดยืนของจีนที่จะเปิดกว้างและดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านธัญญาหาร อีกทั้งนำเสนอข้อเสนอต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาธัญญาหารของจีนในอนาคต
๓. ข้อสังเกต
๓.๑ ในภาพรวมของประเทศ การประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของจีนในด้านความมั่นคงทางธัญญาหาร จากการใช้พื้นที่ไร่นาคิดเป็นจำนวน ๙% ของทั่วโลก และทรัพยากรน้ำจืดจำนวน ๖% ของโลก ในการเลี้ยงดูประชากรที่มีจำนวนถึง ๒๐% ของโลก นอกจากนี้ ยังได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จากความอดอยาก มาเป็นพอกินพอใช้ และอยู่ดีกินดี ทั้งนี้ สมุดปกขาวดังกล่าว ยังระบุว่า ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) จีนได้นำเข้าธัญญาพืชจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ตัน และถั่วเหลืองกว่า ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งได้ส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าธัญญาหารของโลกอีกด้วย
๓.๒ ในระดับมณฑล นับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเป็นเวลา ๗๐ ปี มณฑลเฮยหลงเจียงเป็นมณฑลผลิตธัญญาหารอันดับแรกของจีน โดยในสัดส่วนข้าวสวย ๙ ถ้วย จะมี ๑ ถ้วยมาจากมณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งเป็นมณฑลที่อยู่ในอันดับแรกด้านพื้นที่เพาะปลูก จากยอดการผลิต ยอดการจำหน่ายในต่างมณฑล รวมทั้งพื้นที่อาหารสีเขียว และอัตราการใช้งานเครื่องจักรทางการเกษตรที่ทั่วถึง ในขณะเดียวกันในรอบ ๗๐ ปีที่ผ่านมา เฮยหลงเจียงได้ผลิตน้ำมันดิบให้กับประเทศรวม ๒,๓๙๐ ล้านตัน คิดเป็น ๓๗.๖% ของยอดการผลิตน้ำมันดิบทางบกของจีน สร้างระบบอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
๓.๓ ในระดับเมืองที่มีความสำคัญ เมืองหลันโจว มณฑลกันซู่ ถือเป็นศูนย์สำรองธัญญาหาร เป็นตลาด และซื้อขายธัญญาหารล่วงหน้า ศูนย์แปรรูปอาหารหลัก และฐานนำเข้าและแปรรูปธัญญาหาร รวมทั้งพยายามสร้างช่องทางเชื่อมต่อกับประเทศรายทางตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในด้านธัญญาหารและเสริมสร้างความร่วมมือในด้านนี้ โดยเฉพาะจะอาศัยนิคมอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปธัญญาหาร สร้างให้เป็นเมืองแห่งธัญญาหารในภาคตะวันตก
บทสรุป
สมุดปกขาวว่าด้วยเรื่องธัญญาหารของจีนได้เน้นย้ำว่า จีนมีประชากรเกือบ ๑ ใน ๕ ของโลก และผลิตธัญญาหารประมาณ ๑ ใน ๔ ของโลก โดยที่จีนพึ่งพาอาศัยกำลังของตนเลี้ยงตนเอง ด้วยการเปลี่ยนจากสภาพ “ไม่พอกิน” มาเป็น “พอกิน” ตลอดจน “กินดี” จึงถือเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของประชาชนจีน และเป็นส่วนเกื้อกูลของจีนที่มีต่อความมั่นคงของธัญญาหารโลกอีกด้วย จากการที่จีนผลิตธัญญาหารเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง โดยมีปริมาณธัญญาหารเฉลี่ยต่อคนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งจีนผลิตธัญญาหารเกือบ ๖๖๐ ล้านตัน ดังนั้น ปัจจุบัน ประชากรจีนจึงมีธัญญาหารในครอบครองต่อคนเฉลี่ยประมาณ ๔๗๐ กิโลกรัม
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://news.cgtn.com/news/2019-10-14/China-releases-white-paper-on-food-security-KMBWSqWzf2/index.html
http://thai.cri.cn/20191015/a203d090-dde2-e3a0-e55a-3eb3e51efc8f.html
http://thai.cri.cn/20191015/39749530-8bea-a1dd-b9e7-deb0575ac2cd.html
http://thai.cri.cn/20191014/857ff196-9646-28cf-fb1d-d9a052d4b936.html
http://thai.cri.cn/20190708/6bb1da58-5681-23d6-5323-2d377976c965.html
http://thai.cri.cn/20190907/9dc7e395-c5be-f1fa-39ca-f5618d962dad.html
https://www.chinadaily.com.cn/a/201910/14/WS5da433e3a310cf3e3557066c.html