เซี่ยงไฮ้เปิดศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ทางสมองและเทคโนโลยีด้านสติปัญญา โดยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ด้วยการนำผลลัพธ์จากการวิจัยด้านสมองไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และป้องกันโรคร้ายที่เกิดกับสมอง และนำไปพัฒนาอัลกอริทึมของ AI นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้ออกแผนพัฒนา “China Brain Project” ระยะเวลา ๑๕ ปี ที่รวมถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา AI แห่งชาติ เพื่อผลักดันให้จีนเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ความหมายของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ผนึกรวมกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียบแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดเอง ซึ่งอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนได้ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่คอมพิวเตอร์ “คิด” ได้เหมือนมนุษย์ (หรือฉลาดกว่ามนุษย์อีก) ซึ่งเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน เพราะการสอดประสานระหว่าง “สามพลัง” คือ พลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (Computational Power) พลังของข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) และพลังของขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณ (Algorithm)
๒. นัยสำคัญที่รัฐบาลจีนทุ่มเทให้การสนับสนุนเทคโนโลยี AI
๒.๑ ในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อจะช่วยยกระดับอัตราการผลิตในอุตสาหกรรม และก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ เช่น ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ, หุ่นยนต์ที่มีความสามารถทำงานคล้ายกับมนุษย์, สามารถเล่นหมากรุก หมากล้อมเอาชนะแชมป์โลก และระบบการทำงานต่างๆ ในสมาร์ทโฟน เป็นต้น
๒.๒ ในเชิงความมั่นคง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการทหารเพื่อเตรียมรับมือภัยคุกคามจากภายนอก รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อรักษาความมั่นคงภายใน โดยการนำมาใช้ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น การทำระบบคะแนนสังคม (Social Credit Scores) ให้พลเมืองจีน, การใช้ AI มาช่วยเซ็นเซอร์ความเห็นต่อต้านรัฐบาลในโลกออนไลน์, การมีระบบตรวจสอบใบหน้า (Facial Recognition) ที่เมื่อรวมเข้ากับกล้องรักษาความปลอดภัยที่ติดทั่วเมืองขะช่วยให้สามารถตามจับตัวโจรผู้ร้ายได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น
๓. เป้าหมาย ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติจีน ที่ได้วางเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เป็นจำนวนเงินกว่า ๑ ล้านล้านหยวน หรือราว ๕ ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าในปัจจุบันกว่า ๗ เท่าตัว โดยได้กำหนดมาตรการลดหย่อนทางภาษี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนการวิจัยไปสู่เป้าหมาย โดยมีลำดับพัฒนาการที่สำคัญคือ
๓.๑ นับตั้งแต่ปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) ถึงปัจจุบันจีนมีบริษัทด้านเทคโนโลยี AI รวม ๑,๓๕๔ ราย โดยในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า ๖.๒๒ หมื่นล้านหยวน สูงขึ้นกว่าร้อยเท่าเมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๒ ที่มีการลงทุนเพียง ๖๐๐ ล้านหยวน ซึ่งจากข้อมูลจำนวนกิจการและบุคลากรที่มีความสามารถจีน รวมกับการสนับสนุนและผลักดันของรัฐบาลจีน คาดว่าจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ได้ตามเป้าหมาย
๓.๒ ในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) วิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีน หรือ CAS (Chinese Academy of Sciences) ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ด้านสมองและเทคโนโลยีด้านสติปัญญา โดยรวมทรัพยากรจากสถาบันต่าง ๆ ๒๐ แห่ง รวมถึงห้องปฏิบัติการชั้นนำ ๘๐ แห่งทั่วประเทศ โดย นายไป๋ ชุนหลี่ ผู้อำนวยการ CAS กล่าวว่า “ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ด้านสมองฯ นี้จะดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อผลผลิตระดับโลก โดยการจัดจ้างนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าจากทั่วโลกมาร่วมโครงการ พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิภาพ และมีเงินเดือนและค่าตอบแทนให้นักวิจัยในระดับที่สูงเทียบเท่าสถาบันอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมงานวิจัย” นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ค.๕๙ รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเทคโนโลยี AI ‘Internet plus’ ระยะ ๓ ปี” เพื่อมุ่งสนับสนุนโครงการหลักในด้านต่างๆ อาทิ บ้านอัจฉริยะ ยานยนต์อัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ รวมทั้งการสร้างหลักประกันด้านเงินทุนระเบียบมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาและการอบรมบุคลากร
๓.๓ ในเดือน ก.ค.๖๐ รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนการพัฒนาเทคโนโลยี AI รุ่นใหม่” โดยจัดให้เทคโนโลยี AI เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งนายซือ เสี่ยว ผู้อำนวยการสถาบัน Tencent Research กล่าวว่า ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ถือเป็นจุดเริ่มต้นเทคโนโลยี AI ของจีน โดยมีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในทุกสาขาอาชีพ (เรียกว่า AI plus) โดยเฉพาะสาขาที่มีพื้นฐานข้อมูลค่อนข้างดี เช่น การเงินการรักษาความปลอดภัย การแพทย์และการรักษาพยาบาลและกำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนา “เมืองที่มีความปลอดภัย”และ “การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ” ส่วนเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาในระดับที่ค่อนข้างสุกงอมก็เริ่มนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายแล้ว สำหรับเทคโนโลยีที่เข้าถึงกลุ่มคนหมู่มากโดยตรง อาทิ การชำระเงินด้วยระบบสแกนใบหน้า ระบบแปลภาษา ร้านค้าไร้พนักงานและอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน ซึ่งนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้แทบทั้งสิ้น ทำให้เทคโนโลยี AI ได้พัฒนาจากแนวคิดสู่ความเป็นจริง
บทสรุป
ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติจีน กำหนดเป้าหมายว่า ในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) จีนจะเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ของโลก ทั้งนี้ โดยอาศัยแผนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งใช้จุดแข็งในด้านข้อมูล (Data) อินเทอร์เน็ต และ Internet of Things (IoT) ของจีนที่มีผู้ใข้งานอินเทอร์เน็ต (Netizen) อยู่ราว ๗๗๒ ล้านคน ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก บนพื้นฐานของงานวิจัยด้านเทคโนโลยี AI ที่วิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีน หรือ CAS ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ด้านสมองและเทคโนโลยีด้านสติปัญญา ซึ่งมีนักวิจัยชั้นนำในระดับโลกร่วมงาน ประกอบกับการสนับสนุของรัฐบาลจีน อันเป็นตัวจักรกลสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI ในจีนพัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://mgronline.com/china/detail/9610000048424
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=671&ID=18356
https://www.thairath.co.th/content/1249152
https://www.the101.world/thoughts/ai-china/