มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๓๑ ก.ค.๖๒ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้พบกับนักข่าวทั้งจีนและต่างประเทศ หลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียนที่กรุงเทพฯ โดยนายหวังอี้ระบุว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน ได้รับผลที่ดีและประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะมีการรับรู้ที่สำคัญร่วมกันใน ๕ ด้าน กล่าวคือ
๑.๑ ร่วมกันผลักดันการสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “สายแถบและเส้นทาง”(Belt and Road Initiative: BRI) โดยทั้งสองฝ่าย (จีนกับอาเซียน) ได้มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการเชื่อมต่อข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับ “แผนการเชื่อมโยงต่อกันอาเซียนปี ๒๐๒๕” จะจัดการปรึกษาหารือโดยเร็ว และยื่นต่อที่ประชุมผู้นำที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
๑.๒ ร่วมกันสร้างจุดเด่นแห่งความร่วมมือ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยที่กำหนดปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ให้เป็นปีแห่งความร่วมมือเศรษฐกิจดีจิทัลจีน-อาเซียน ขยายความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ส การประดิษฐ์คิดสร้างทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เครือข่าย 5G และเมืองอัจฉริยะ
๑.๓ ร่วมกันรักษาลัทธิหลายฝ่าย (ลัทธิพหุภาคี) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การยืนหยัดในลัทธิหลายฝ่าย มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของจีนและประเทศในอาเซียน
๑.๔ ร่วมกันสร้างกฎเกณฑ์ส่วนภูมิภาค ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนและประเทศในอาเซียนได้ร่วมกันประกาศว่า ได้บรรลุผลสำเร็จในการร่าง “กฎปฏิบัติการทะเลจีนใต้ฉบับหารือ” (Code of Conduct in the contentious South China Sea) ซึ่งเป็นผลคืบหน้าที่สำคัญของการปรึกษาหารือ “กฎปฏิบัติการ” (Code of Conduct: COC) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ากรอบของ COC ได้ก่อรูปขึ้นแล้ว
๑.๕ ร่วมกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพส่วนภูมิภาค เป็นความปรารถนาร่วมกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงจีนและอาเซียน และเป็นภารกิจร่วมกันของจีนและอาเซียนด้วย
๒. นายหวัง อี้ ได้แสดงท่าทีต่อกรณีปัญหาทะเลจีนใต้ในประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน – อาเซียน โดยกล่าวว่า ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา จีนและประเทศในอาเซียนได้สืบสานเจตนารมณ์ของ “ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” โดยเปิดทางให้กับวิธีการบริหารทะเลจีนใต้ตามกฎเกณฑ์ พยายามผลักดันการเจรจาเกี่ยวกับ “เกณฑ์ปฏิบัติในทะเลจีนใต้” และได้ผ่านการอภิปราย ตรวจสอบร่างเอกสาร “เกณฑ์ปฏิบัติในทะเลจีนใต้”รอบแรก โดยมีการปรับปรุงอย่างละเอียดตามร่างเอกสารฉบับนี้ ทำให้โครงสร้างมีความชัดเจนและสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า การเจรจาเกี่ยวกับ “เกณฑ์ปฏิบัติในทะเลจีนใต้”มีผลที่คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะเดินหน้าให้ประสบผลสำเร็จภายในเวลา ๓ ปี
๓. ข้อสังเกตต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน โดยเมื่อวันที่ ๓๑ ก.ค.๖๒ นายหลี่ เฉิงกัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ได้กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า ปัจจุบันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนพัฒนาอย่างรวดเร็ว การค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกของปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) นี้ ยอดการค้านำเข้าส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง ๒๙๑,๘๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๔.๒% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว อาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ ๒ ของจีน ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ ๑ ของอาเซียนติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี และอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ ๒ ของจีน จนถึงสิ้นปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) โดยยอดการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนรวมแล้วมีถึง ๒๐๕,๗๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๒๒ เท่าในช่วง ๒๒ ปีที่ผ่านมา จึงทำให้อาเซียนกลายเป็นเขตสำคัญของการลงทุนต่างประเทศของนักธุรกิจจีน
บทสรุป
มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียนที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ โดยเน้นย้ำว่า ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง ๑๐๐ ปี ปัจจัยที่ไม่แน่นอนและไม่มั่นคงในสถานการณ์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยภาพรวมสามารถรักษาความมั่นคงทางสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางได้แสดงบทบาทที่ชัดเจนและเด่นชัด โดยจีนให้ความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ในช่วง ๒๘ ปีที่ทั้งสองฝ่ายสร้างกลไกการพบปะหารือกัน โดยเฉพาะในช่วง ๑๖ ปีหลัง ที่ได้สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ให้พัฒนาได้ตามยุคสมัย และมีความก้าวหน้าร่วมกัน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียนได้กลายเป็นตัวนำความร่วมมือในส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
https://www.youtube.com/watch?v=8NzW0txpTxw
http://thai.cri.cn/20190801/4cfe3609-9714-f332-3fd0-a125772ad290.html
http://thai.cri.cn/20190801/9eccf5f8-d61c-b2ae-4941-dedd36d72eac.html
http://thai.cri.cn/20190801/2c84b102-305e-2e95-2f91-54f2f208613a.html
http://thai.cri.cn/20190801/f3ee44f3-79bb-e51e-5a70-cab4a8d73ae2.html
http://thai.cri.cn/20190801/e75acc5c-cf46-34db-ff88-fe2ed7ab6637.html
http://www.chinadaily.com.cn/a/201908/01/WS5d42214fa310d83056402178.html
https://www.youtube.com/watch?v=0sCVcLstzbE