ท่าทีของจีนต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จากข้อคิดเห็นของนายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในงานสัมมนา "China – Japan Cooperation on the Eastern Economic Corridor of Thailand" เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค.๖๑ ณ โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ปัจจัยพื้นฐานทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของ EEC
๑.๑ การที่ EEC มีทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งมีความเหมาะสมยิ่ง และมีศักยภาพการพัฒนาอย่างมาก ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เศรษฐกิจเจริญ และรายได้ต่อหัวสูงสุดในประเทศไทย รวมทั้งภายในพื้นที่ EEC มีการคมนาคมสะดวกสบาย อุตสาหกรรมมีความทันสมัย มีสาขาอุตสาหกรรมที่ครบครัน และสามารถขยายธุรกิจสู่แหลมอินโดจีนและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตลอดจนขยายไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย เป็นต้น อันเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและมีผลต่อภูมิภาคอย่างกว้างไกล
๑.๒ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและยกระดับอุตสาหกรรม และนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ได้เสนอโครงการ EEC เป็นต้นมา ภายใต้ความพยายามของหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง งานได้คืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.๖๑ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหลักประกันทางกฎหมายในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ ทำให้ EEC ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนของสังคม
๑.๓ มีความเป็นไปได้สูงที่ EEC จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน การพัฒนา EEC ถือได้ว่า เป็นมาตรการสำคัญของไทยที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพของการพัฒนา จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน
๒. ปัจจัยความร่วมมือที่จะสนับสนุนต่อทิศทางในอนาคตของ EEC
๒.๑ การขยายความร่วมมือทวิภาคีไทย-จีน เพื่อพัฒนาภูมิภาค ซึ่งผู้นำของจีนให้ความสำคัญต่อการประสานนโยบายความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) กับโครงการ EEC โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนพบกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อเดือน ม.ค.๖๑ ที่กรุงพนมเปญ โดยผู้นำทั้งสองคนเห็นพ้องต้องกันที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศจีนก็กำลังเร่งพัฒนา "เส้นทางสายไหมดิจิทัล" จำนวนบริษัทยูนิคอร์นหรือ Unicorn Enterpriseมากเป็นอันดับ ๑ ในโลก"เศรษฐกิจเครือข่าย (Network economy)" และ "เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม(platform economy)" เป็นพลังงานใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจีน และสามารถประสานยุทธศาสตร์การพัฒนากับประเทศไทย
๒.๒ การดำเนินความร่วมมือสามฝ่าย (ไทย-จีน-ญี่ปุ่น) ในโครงการ EEC เมื่อเดือน มี.ค.๖๑ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพบกับนาย หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แสดงท่าทีสนับสนุนความร่วมมือสามฝ่ายในโครงการ EEC อย่างชัดเจน ซึ่งผู้นำจีนและญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญและบรรลุข้อตกลงสำคัญในการร่วมมือในตลาดฝ่ายที่สาม เมื่อเดือน พ.ค.๖๑ ขณะที่นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเยือนประเทศญี่ปุ่นและเข้าพบนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในตลาดฝ่ายที่สาม ทั้งนี้ ความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้นำจีน ไทย และญี่ปุ่น สามประเทศนั้น เป็นการสร้างรากฐานที่ดีในการร่วมมือพัฒนาโครงการ EEC
๒.๓ ความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างจีน ไทยและญี่ปุ่น ในภูมิภาคนี้ มีความสำคัญยิ่งในการผลักดันความร่วมมือพหุภาคี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความคึกคักทางเศรษฐกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรมจีน ไทย และญี่ปุ่นต่างมีเอกลักษณ์ ระบบเศรษฐกิจเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้น ความร่วมมือในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะมีศักยภาพสูง ภายใต้การประสานงานและวางแผนที่ดีของทั้งสามฝ่าย สามารถเกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน เพื่อผลักดัน EEC ให้มีความคืบหน้าต่อไป
๓. ข้อเสนอเกี่ยวกับความร่วมมือสามฝ่าย (ไทย-จีน-ญี่ปุ่น) ในโครงการ EEC
๓.๑ ปฏิบัติตามแผนแม่บท เน้นบริษัทเป็นผู้ดำเนินการสำคัญ บนพื้นฐานเคารพการวางแผนเกี่ยวกับโครงการ EEC โดยทั้งสามฝ่ายควรยืนหยัดหลักการ บริษัทเป็นตัวสำคัญ ตามหลักการทำธุรกิจ เป็นไปตามกลไกตลาดและเคารพกติกาสากลเพื่อดำเนินการความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ซึ่งฝ่ายจีนสนับสนุนส่งเสริมให้บริษัทสามประเทศต่างใช้จุดแข็งของตน เสริมสร้างความร่วมมือ ผลักดันการพัฒนาของโครงการ EEC
๓.๒ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานงานระหว่างรัฐบาลด้วยกัน เพื่อให้การบริการแก่ความร่วมมือระหว่างบริษัท ควรส่งเสริมการประสานงานระหว่างรัฐบาลเพื่อเป็นการให้การบริการแก่บริษัทให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ส่งเสริมบริษัทสามฝ่ายให้มีการแบ่งปันข้อมูล ที่เกี่ยวกับนโยบาย โครงการเป็นต้น เพื่อเป็นการให้บริการอย่างบูรณาการ
๓.๓ ส่งเสริมให้บริษัทของทั้งสามฝ่ายมีความร่วมมือจากโครงการที่เป็นรูปธรรม มีการศึกษาหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ถึงความร่วมมือในโครงการใหญ่และสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อแสวงหาจุดร่วมของความร่วมมือแล้วค่อยขยายผลสู่ความร่วมมือรอบด้าน
บทสรุป
ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย หรือ EEC มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างไทย จีนและญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ EEC ซึ่งจะมีศักยภาพสูงต่อการอำนวยความสะดวกและให้คำชี้แนะกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้วิสาหกิจและบริษัทของทั้งสามฝ่าย สามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น โครงการ EEC จึงเป็นระเบียงแห่งการพัฒนาและเขตพัฒนาพิเศษแห่งมิตรภาพ เพื่อสร้างคุณูปการต่อความร่วมมือพหุภาคี ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและต่อประเทศไทยในที่สุด
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/247/2018/05/31/242s267631.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/05/31/242s267632.htm
http://www.chinaembassy.or.th/th/sgxw/t1564719.htm
http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=8275&filename=aseanknowl