bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๑ ก.ย.๖๑ : ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีน

ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนและพื้นที่บางส่วนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๙ ก.ย.๖๑ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจ.เชียงราย ร่วมกับตัวแทนภาคการท่องเที่ยวจากเมืองเชียงรุ่งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน (อวิ๋นหนาน) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ของประเทศเมียนมา เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) แขวงหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว และจังหวัดเชียงใหม่ของไทย ได้ร่วมกันเปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ๕ เชียง ณ ห้องดอยตุง โรงแรมเดอะริเวอร์รี บาย กะตะธานี เชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อการนำแนวคิดเดิมที่ภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย เคยร่วมกันนำชื่อของเมืองที่พ้องกันทั้ง ๕ เมือง โดยมีจังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์กลางมาส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อนมาส่งเสริมกันใหม่อีกครั้ง

๒. เมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย.๖๑ เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ ร่วมลงนามกับ นาย หยวน หมิง เต้า รองผู้ว่าราชการเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ในบันทึกความเข้าใจระหว่างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน กับ ท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสองท่าเรือ ภายใต้กรอบความร่วมมือราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ทั้งในด้านการอำนวยความสะดวกการให้บริการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าทางแม่น้ำโขง และส่งเสริมด้านการตลาดและโครงการพัฒนาต่างๆ ระหว่างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือกวนเหล่ย อันจะนำมาซึ่งการสร้างและพัฒนาโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ร่วมกัน โดยมีผู้บริหารท่าเรือสิบสองปันนา และผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ ณ โรงแรม Ramada Plaza Xishuangbanna เมืองเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ จุดเด่นของเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา (อักษรจีนตัวเต็ม: 西雙版納傣族自治州; อักษรจีนตัวย่อ: 西双版纳傣族自治州; การออกเสียงแบบพินอิน: Xīshuāngbǎnnà dǎizú Zìzhìzhōu; ขื่อในภาษาอังกฤษ: Xishuangbanna Autonomous Region of Tai Ethnic Groups) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน โดยมีเมืองเชียงรุ่งเป็นเมืองเอก
                ๓.๑.๑ สิบสองปันนามีเนื้อที่ประมาณ ๑๙,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับแขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี ของประเทศลาว และรัฐฉานของเมียนมา โดยมีชายแดนยาวถึง ๙๖๖ กิโลเมตร และมีแม่น้ำโขงไหลผ่านตอนกลาง เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ด้วยตั้งอยู่ตรงกลางที่ลุ่มหุบเขาริมแม่น้ำโขง ซึ่งชาวไทลื้อเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง ชาวจีน เรียกว่า แม่น้ำหลันช้าง หรือ หลันชาง หรือ หลันชางเจียง มีสภาพภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน มีฝนตกชุก ไม่มีหิมะตก อากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ผืนดินจึงอุดมไปด้วยป่าไม้เขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเขียวขจีตลอดทั้งปี ในผืนป่าก็อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าอย่างช้างและนกยูง ที่เป็นเสมือนสัตว์สัญลักษณ์ของสิบสองปันนา
                ๓.๑.๒ สิบสองปันนาเป็นแหล่งปลูกข้าว อ้อย ยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ส่งขายไปยังเมืองอื่นๆ ในจีน จึงทำให้สิบสองปันนาได้รับสมญานามว่าเป็น “อาณาจักรแห่งต้นไม้” เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของมณฑลยูนนาน
        ๓.๒ เมื่อเดือน ต.ค.๕๙ มีคณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมกับพาณิชย์และอุตสาหกรรมเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา หอการค้าสิบสองปันนา สมาคมผู้นำเข้า-ส่งออกสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของมณฑลคุนหมิง ประเทศจีน โดยหัวข้อการหารือคือ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า ในเส้นทาง R3A และการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขง จากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มายังท่าเรือกวนเหล่ย รวมทั้งการบริการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ เข้าท่าเรือกวนเหล่ย การบริการห้องเย็น เพื่อรับอาหารแช่แข็ง โดยเน้นอาหารแช่แข็งทุกชนิด ลานตู้คอนเทนเนอร์ เครนยกตู้ ห้องแล็บตรวจสินค้า รวมไปถึงห้องเย็นมาตรฐานนำเข้า-ส่งออก ผักสด-ผลไม้ โดยทางจีนได้ชี้แจงว่ารัฐบาลจีน ต้องการดำเนินนโยบาย One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative ที่เน้นเปิดดินแดนด้านตะวันตกของจีนออกสู่ภูมิภาค ด้วยการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ เส้นทางแม่น้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขง

บทสรุป

จึงน่าจับตาดูความเชื่อมโยงระหว่างเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนาของจีนกับจังหวัดเชียงรายของไทย ผ่านเส้นทางการค้าด้านเหนือ ทั้งเส้นทางบก ผ่านถนน R3A และเส้นทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงดังกล่าว ซึ่งเส้นทางทั้งสองสายนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์หลัก ที่ทั้งไทยและจีนตั้งใจจะพัฒนาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทำให้นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนและพื้นที่บางส่วนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับจีน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.naewna.com/local/365123

http://www.banmuang.co.th/news/relation/125824

http://www.hugchiangkham.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2/

https://www.dek-d.com/board/view/1398853/ 

https://www.posttoday.com/aec/trade/464023