มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สำหรับท่าทีของจีนต่อความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Outlook) เนื่องจาก อาเซียนมีที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของอินโด-แปซิฟิก และกลายเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการที่จะมีการนำเสนอเรื่องนี้อีกครั้ง ในเวทีการประชุมของกลุ่มประเทศ G-20 ที่นครโอซาก้าประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนนี้ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะประธานอาเซียน
๑.๑ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเป็นคำใหม่ที่เพิ่งจะถูกใช้ในราว ๑๐ – ๒๐ ปีมานี้ โดย Gurpreet S Khurana นักยุทธศาสตร์และผู้อำนวยการบริหารสถาบัน New Delhi National Maritime Foundation แห่งประเทศอินเดียที่เห็นว่าหลังจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ สหรัฐฯ ก็ต้องการทำนโยบายที่จะขยายอิทธิพลและความร่วมมือเข้ามาในภูมิภาค ทำให้เกิดคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ดังนั้นเมื่ออินเดียเริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจก็คงจะต้องให้ความสนใจกับ “อินโด-แปซิฟิก” มากยิ่งขึ้น
๑.๒ ในการปฏิรูปของจีนตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ ๒ (เติ้ง เสี่ยวผิง) ส่งผลให้จีนเริ่มเปิดประเทศสู่ตลาดการค้าในทศวรรษ ๑๙๙๐ จีนรับรู้และเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกที่สหรัฐฯ วางเกมเอาไว้ผ่านการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ และพอถึงปลายทศวรรษ ๒๐๐๐ จีนก็เริ่มถึงจุดอิ่มตัว และต้องการเครื่องมือการปฏิรูปใหม่เพื่อบรรลุความฝันของจีน (China Dream, 中国梦) ภายใต้การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าว จีนตั้งเป้าหมายไว้ ๒ ประการคือ (๑) การลดการพึ่งพาการส่งออก และกำหนดเป้าหมายให้มากกว่า ๖๐% ของผลผลิต ที่ผลผลิตในจีน (GDP) ต้องถูกบริโภคภายในประเทศ โดยต้องทำให้คนจีนรวยขึ้นและบริโภคของจีน ภายใต้นโยบาย Made in China 2025 (中国制造 2025) เพื่อให้สินค้าจีนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูงภายในปี ๒๐๒๕ ผ่านการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และ (๒) จีนต้องหาคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพาแต่เฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เกิดการเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road: OBOR หรือ 一带一路) ซึ่งในภายหลังถูกเรียกใหม่ในชื่อ ความริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)” โดย BRI คือการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากจีนสู่คู่ค้าใหม่ ตลาดกระจายสินค้าใหม่ และแหล่งทรัพยากรใหม่ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป
๒. ส่วนท่าทีของจีนต่อการเจรจาการค้าในข้อตกลงการค้าเสรี หรือ RCEP อันสืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐฯ ประกาศสงครามการค้ากับจีนในเดือน ก.ค.๖๑ เป็นผลให้จีนได้รับผลกระทบอย่างหนักก ในขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่น้อยไปกว่าจีน จึงทำให้จีนกับญี่ปุ่นต้องหันหน้ามาให้ความร่วมมือต่อกันเพื่อไปลงทุนในประเทศที่ ๓ ในขณะที่การปิดล้อมการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนโดยสหรัฐฯ โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ ยกระดับกองเรือที่ ๗ “เอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งประกอบไปด้วยเรือรบ ๗๐ ลำ เครื่องบินรบ ๓๐๐ ลำ และทหารอากาศและทหารเรือมากกว่า ๔๐,๐๐๐ นาย ให้กลายเป็นกองเรือที่ ๗ “อินโด-แปซิฟิก” ดังนั้น อาเซียนและประเทศคู่เจรจาหลักอีก ๖ ประเทศ จึงต้องการที่จะมีข้อตกลงทางการค้าเสรีเพื่อแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ และคู่เจรจาหลักคือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ยังคงสนับสนุนการค้าเสรีและการสร้างความเป็นธรรมในระดับโลก
บทสรุป
กระแสข่าวความเคลื่อนไหวของจีนที่ผ่านมา จากกรณีการให้สิทธิพิเศษทางการลงทุนในเงื่อนไขที่ดีที่สุดกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ด้วยการเน้นถึงการพัฒนาคนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หลายๆ อย่างขึ้นในจีน อาทิ โทรศัพท์มือถือ Huawei P30 Pro ที่ซูมได้ ๕๐ เท่า ด้วยอุปกรณ์ของ Sony (ญี่ปุ่น) ผนวกกับเทคโนโลยีของ Leica (เยอรมนี) และในปัจจุบัน สินค้าแบรนด์เนม สินค้าคุณภาพสูงจำนวนมากก็ผลิตจากจีน ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุให้ประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ต้องการควบคุมการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อรักษาสถานะการเป็นอภิมหาอำนาจผู้ควบคุมระเบียบโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
https://www.springnews.co.th/programs/insidethailand/512530
https://thestandard.co/asean-summit-2019-
https://www.prachachat.net/economy/news-338999