bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๑ มิ.ย.๖๒ ทิศทางและกลไกของจีนในการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ทิศทางและกลไกที่จีนมุ่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในการก้าวขึ้นมามีอำนาจอย่างสันติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้แก่
        ๑.๑ มุ่งสร้างบทบาทใหม่ของการเป็นสถาบันระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อความร่วมมือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เช่น การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (The Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC)
        ๑.๒ มุ่งใช้กลไกของสถาบันระหว่างประเทศที่มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคโดยเฉพาะหลังวิกฤติทางเศรษฐกิจในเอเชีย ได้แก่ กรอบการประชุมอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 หรือ ASEAN Plus Three: APT) และในปัจจุบันกำลังเร่งผลักดันกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เป็นความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี ระหว่าง ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน และ ๖ ประเทศคู่เจรจา (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
        ๑.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนต่อการสร้างบรรทัดฐานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (The Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ในการต่อต้านการขยายอำนาจอิทธิพลเพื่อครองความเป็นจ้าว (hegemonic power)
        ๑.๔ เร่งดำเนินการให้สถาบันระหว่างประเทศมีกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค เช่น กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) เป็นต้น
       ๑.๕ ยกระดับความเชื่อมั่นของกลไกเพื่อความร่วมมือด้านความมั่นคงทั้งในรูปแบบทวิภาค (bilateral) และพหุภาคี (multilateral) ให้มีความสมดุลที่จะผลักดันให้เกิดประชาคมความมั่นคง (security community) ของภูมิภาคต่อไป
       ๑.๖ ใช้แนวทางของความสัมพันธ์ในความร่วมมือด้านความมั่นคงทั้งที่เป็นทางการ (formal security approach) และที่ไม่เป็นทางการ (informal security approach) โดยตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อลดข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการมีกิจกรรมร่วมกัน

๒. สำหรับแนวโน้มการดำเนินการสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนของจีนนั้น จีนจะมุ่งเน้นการขยายบทบาทและอำนาจโดยใช้เศรษฐกิจและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ (soft power) เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้แถลงผลการวิจัยเมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ว่า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี พ.ศ.๒๕๖๘ โดยจีนได้กำหนดเป้าหมายจากจำนวน ๑ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น ๔ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ซึ่งจะทำให้ประชากรจีนที่มีรายได้น้อยจำนวนกว่า ๒๐๐ ล้านคน สามารถหลุดพ้นจากความยากจน นอกจากนี้ จีนยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก ซึ่งการที่จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากนั้น ทำให้จีนต้องหันไปเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศเพื่อชะลอสภาวะความร้อนแรงทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่สมดุล รวมทั้งรัฐบาลจีนได้มีนโยบายให้บริษัทต่าง ๆ ของจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)

บทสรุป
ทิศทางและแนวโน้มของความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน มีความชัดเจนมาตั้งแต่การออกแถลงการณ์ในการประชุมหารือว่าด้วยเขตการค้าเสรีจีน – อาเซียน (China-ASEAN FTA Forum) เมื่อวันที่ ๗ – ๘ ม.ค.๕๓ ณ นครหนานหนิง โดยมีสาระสำคัญว่า
         (๑) ทั้งสองฝ่ายพยายามปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเสรี ในการเปิดเสรีทางการตลาดระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมรับมือกับความท้าทายและการต่อต้านระบบปกป้องการค้าเพื่อผลักดันการสร้างเขตการค้าเสรีให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
        (๒) ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุนและการต่อต้านระบบการปกป้องการค้าการลงทุน โดยเร่งส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าตามข้อตกลงว่าด้วยการค้าและสินค้าบริการรวมทั้งใช้ประโยชน์จากฐานการส่งเสริมการค้าต่าง ๆ เช่น งานมหกรรมแสดงสินค้า ฯลฯ เพื่อกระชับความร่วมมือทางการค้า
        (๓) ส่งเสริมระบบการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนให้มีความสมบูรณ์ โดยเร่งพัฒนาภายใต้ความร่วมมือในโครงการขนาดใหญ่รวมทั้งการสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเขตนิคมอุตสาหกรรมข้ามประเทศ
        (๔) ผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมระหว่างจีนกับอาเซียนเต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการบูรณาการมาตรฐานของโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางท่าเรือ เส้นทางรถไฟสายหลัก เส้นทางหลวงและท่าอากาศยาน ฯลฯ โดยร่วมกันผลักดันมาตรฐานการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมอันจะสร้างความแข็งแกร่งในด้านการเชื่อมต่อภายในภูมิภาค
        (๕) ผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนด้วยความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคซึ่งเป็นสาระสำคัญของกรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน – อาเซียน เช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
กระทรวงการต่างประเทศ.(๒๕๕๓). “การประชุมอาเซียนครั้งที่ ๔๓ : อีกหนึ่งแรงผลักดันของไทย” ใน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันจันทร์ที่ ๓๐ ส.ค.๕๓ หน้า ๓๒. และข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ

http://www.mfa.go.th/internet/document/3788.doc.

Dongxiao, Chen. (2008). Building up a Cooperative & Co-progressive New Asia: China’s Asia Strategy towards 2020. Shanghai: Shanghai Institutes for International Studies.
Hao, Su. (2009). “Harmonious World : The Conceived International Order in Framework of China’s Foreign Affairs” in Iida, Masafumi. (ed.). China’s Shift : Global Strategy of the Rising Power. Tokyo : The National Institute for Defense Studies, Japan., pp. 29-55.