ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ พ.ค.๕๗ พลตรี อู๋ เจียหมิง รองผู้บัญชาการฝ่ายการเมือง มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ได้นำคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยป้องกันประเทศมาเยือนสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และได้เข้าพบ พลเอก วุฒินันท์ ลีลายุทธ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางวิชาการด้านยุทธศาสตร์กับศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รวมทั้งเชิญให้ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศไปเยือนมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ
๒. พลเอก วุฒินันท์ ลีลายุทธ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ในขณะเวลานั้น) ได้เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๗ มิ.ย.๕๗ เพื่อสานต่อกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันให้ขยายผลไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน เพื่อให้นักวิจัยและนักวิชาการของทั้งสองสถาบัน ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
๓. ประโยชน์ที่ไทยและจีนได้รับจากการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
๓.๑ สืบเนื่องมาจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ใกล้กับช่องแคบมะละกา ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลก สามารถเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและเส้นทางลำเลียงน้ำมันที่เชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยจีนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเทศในอาเซียนมากยิ่งขึ้น ดังเห็นได้จากการที่จีนได้ยกระดับจากการเป็นคู่เจรจาของอาเซียนมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) รวมทั้งมีการลงนามระหว่างผู้นำอาเซียนและผู้นำจีนในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อสันติภาพและความมั่งคั่ง (Joint Declaration on Strategic Partnership for Peace and Prosperity) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ ๗ ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ต.ค.๔๖ ที่ได้เน้นถึงความร่วมมือระหว่างกันทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบทบาทของประเทศไทยที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียน
๓.๒ จีนยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ภูมิภาคนี้มีสันติภาพและมีความมั่นคง ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกของอาเซียนที่ให้การรับรองสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) และสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Protocol to the Treaty of Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone: SEANWFZ) ซึ่งการแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวนับเป็นการแสดงบทบาทของจีนในการสร้างเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ
บทสรุป
การดำเนินบทบาทของจีนในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ โดยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นั้น ย่อมส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของไทย ในการแสวงหาและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทั้งในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับจีน และรูปแบบความร่วมมือพหุภาคีระหว่างอาเซียนกับจีน โดยที่ความร่วมมือแบบทวิภาคีได้กระตุ้นให้ความร่วมมือแบบพหุภาคีมีความก้าวหน้าได้มากขึ้น ในขณะที่ความร่วมมือแบบพหุภาคีจะผลักดันให้ความร่วมมือแบบทวิภาคีมีความราบรื่นยิ่งขึ้น
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
(๑) ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรื่อง “ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: ศึกษาเฉพาะกรณีความร่วมมือทางการทหาร” โดย ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พันเอก (ยศในขณะนั้น)
(๒) หนังสือเรื่อง “ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับจีน” โดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๕๗
(๓) บันทึกของผู้เขียนในฐานะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศกับมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๗