กรณีกิจกรรมความเคลื่อนไหวระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค.๖๒ มีการจัดงานฉลองตรุษจีน “มิตรจิตมิตรใจจีน-เมียนมา” ที่สถานีโทรทัศน์ SKYNET ที่นครย่างกุ้ง โดยมีศิลปินจีนและพม่าต่างร่วมแสดงโชว์ชั้นเยี่ยม ขณะที่งานฉลองดังกล่าวได้มีการแพร่ภาพสู่ผู้ชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์มณฑลหวินหนาน (ยูนนาน) ของจีน และสถานีโทรทัศน์ SKYNET ของเมียนมาในช่วงตรุษจีน ในงานนี้ นายหง เลี่ยง เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา ได้ขึ้นกล่าวแนะนำวัฒนธรรมตรุษจีนที่สืบทอดกันมาของจีนให้ประชาชนพม่ารับรู้เข้าใจมากยิ่งขึ้นด้วย
๒. เมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค.๖๒ ไทยทำข้าวเหนียวมะม่วงใหญ่ที่สุดในโลก ๔.๕ ตันเลี้ยงนักท่องเที่ยวจีน ๑ หมื่นคน และได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกของกินเนสส์บุ๊ค ในงาน “WE CARE ABOUT YOU” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเจ้าภาพ ขณะที่ นายหยาง ซิน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวในงานว่า การที่ประเทศไทยออกมาตรการต่าง ๆ ในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีน รวมไปถึงด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศเป็นไปอย่างมีระบบและระเบียบ โดยจีนยินดีรักษาการติดต่อประสานงานกับไทยต่อไป
๓. เมื่อวันที่ ๒๒ ม.ค.๖๒ มีการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุนจีน-กัมพูชา ที่กรุงปักกิ่ง โดยผู้แทนฝ่ายจีนระบุในงานว่า การส่งออกของกัมพูชามายังจีนมีศักยภาพมาก ทั้งนี้ ยินดีเห็นสองประเทศเพิ่มความร่วมมือ กระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีให้พัฒนาก้าวหน้า โดย สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า ยินดีต้อนรับนักลงทุนจีนไปลงทุนในกัมพูชา ในขณะที่ นายหู ชุนหวา รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนส่งเสริมบริษัทที่มีศักยภาพเข้มแข็งไปลงทุนและดำเนินความร่วมมือในกัมพูชา นอกจากนี้ นายหวัง โซ่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์และรองผู้แทนการเจรจาการค้าของจีน เน้นว่า จีนมีความต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสองฝ่ายใช้สิทธิพิเศษทางการค้า จากความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และ RCEP หรือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค เพื่อเปลี่ยนศักยภาพทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นจริงขึ้นมา
๔. เมื่อวันที่ ๒๓ ม.ค.๖๒ นายหยาง ไจ้ผิง เลขาธิการใหญ่สมาคมความร่วมมือทางการเงินเอเชีย กล่าวในงานการประชุมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเงินระหว่างประเทศ ๒๐๑๙ ในสิงคโปร์ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงและซบเซาลง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเงินนั้น สามารถเพิ่มพลังชีวิตให้กับธุรกิจการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งส่วนภูมิภาคและทั่วโลก ดังนั้น สมาคมความร่วมมือทางการเงินเอเชีย จึงได้ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อขยายความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น
บทสรุป
กิจกรรมความเคลื่อนไหวระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน นอกจากความใกล้ชิดกันด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์และการติดต่อค้าขายระหว่างกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ยังมีแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคที่มากระทบต่อปัจจัยภายในภูมิภาค อันเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอยางยิ่งการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ จึงทําให้ต้องมีการรวมกลุ่มกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และได้นำไปสู่การให้ความร่วมมือระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งในกรอบความร่วมมือแบบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเพิ่มอํานาจการต่อรองในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนเองด้วยกันทั้งสิ้น
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/20190121/ce3b8253-c746-f9a8-6494-4aee4a091af2.html
http://thai.cri.cn/20190121/9dd16a87-b818-2afa-c313-955294f711c8.html
http://thai.cri.cn/20190122/17d16a41-5ff2-961d-5d07-f9a36e9d8416.html
http://thai.cri.cn/20190123/e9a6a8e0-1441-687a-bc08-2a2ef024ad1f.html