bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๖ ต.ค.๖๑ : ความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง

ความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงปักกิ่ง-นครจางเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. บริษัทการรถไฟกรุงปักกิ่ง (China Railway Beijing Group) ได้เปิดเผยถึงการก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางระหว่างปักกิ่ง-นครจางเจียโข่ว ในมณฑลเหอเป่ย ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) โดยใช้เวลาเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปนครจางเจียโข่วซึ่งเป็นสถานที่จัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ระยะทาง ๑๗๔ กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง ๕๐ นาทีเท่านั้น สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการ ได้แก่
        ๑.๑ ขณะนี้ สถานีรถไฟชิงเหอ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
        ๑.๒ เส้นทางรถไฟสายดังกล่าว วิ่งลอดขุนเขาไปตามแนวกำแพงเมืองจีน โดยเมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) หลังจากที่จีนได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) ก็ได้ประกาศเตรียมขุดดินสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงใต้ดิน ใต้กำแพงเมืองจีนช่วงด่านปาต๋าหลิง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยว
        ๑.๓ จีนวางแผนเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายกรุงปักกิ่ง-นครจางเจียโข่ว ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ซึ่งนอกจากจะสามารถรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแล้ว ยังช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงทางคมนาคมและเศรษฐกิจของบรรดาเมืองตลอดเส้นทางรถไฟ

๒. ข้อสังเกต ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยข้อมูลปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) พบว่า
        ๒.๑ ความยาวของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จีนได้ดำเนินการไปแล้วเป็นระยะทาง ๒๕,๐๐๐ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๖๖ ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของโลก ซึ่งจีนยังได้ตั้งเป้าขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ให้ได้ถึง ๓๐,๐๐๐ กิโลเมตร ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓)
        ๒.๒ จีนจะดำเนินโครงข่ายเส้นทางรถไฟโดยสารความเร็วสูง ๔ แนวตั้ง ๔ แนวขนาน ซึ่งเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทโครงข่ายระบบรางระยะกลาง/ยาว ที่คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติเมื่อปี ๒๐๐๔ (พ.ศ.๒๕๔๗)ต่อมาในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) จีนได้กำหนดเป้าหมายใหม่ว่า จะสร้างโครงข่ายเส้นทางรถไฟโดยสารความเร็วสูง ๘ แนวตั้ง ๘ แนวขนาน และจะก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวม ๔.๕ หมื่นกิโลเมตรภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)

บทสรุป

หลังจากการพัฒนาประเทศ ๔๐ ปี เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนได้ติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า “ฟู่ซิงเฮ่า” (复兴号) เป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ล่าสุดในจีน และมีความเร็วการเดินรถ ๓๕๐ กม./ชม. ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่เร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ การตกแต่งภายในขบวน “ฟู่ซิงเฮ่า” มีที่นั่งที่กว้างสบาย และได้เพิ่ม wifi กับที่ชาร์จแบบหัวต่อ USB นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงจีนได้ใช้ระบบ big data ในด้านการสำรวจและการซ่อมแซมรถไฟ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและบำรุงรักษามากขึ้นด้วย ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงปักกิ่ง-นครจางเจียโข่วของจีน ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี ๒๐๒๒ และส่งเสริมต่อแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญตามเส้นทาง โดยเฉพาะกำแพงเมืองจีนช่วงด่านปาต๋าหลิง สถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางที่รวดเร็วแล้ว ยังใช้เทคนิคทางวิศวกรรมที่สามารถลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/a/201810/18/WS5bc850bda310eff303283331.html 

https://mgronline.com/china/detail/9610000104914 

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?SECTION_ID=468&ID=18361 

https://jiasuhui.com/article/28353 

http://www.xinhuanet.com/politics/2018-02/14/c_1122417619.htm

https://news.szhk.com/2018/03/01/282994784886005.html