จีนศึกษา (วันศุกร์ที่ ๒๗ พ.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการมีงานทำเพื่อการแก้ไขปัญหาบัณฑิตจบใหม่ของจีน กล่าวคือ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนของบัณฑิตที่จบใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการของจีน คาดว่าจำนวนบัณฑิตที่จบใหม่จะสูงถึง ๑๐.๗๖ ล้านคนในปี พ.ศ.๒๕๖๕ เพิ่มขึ้น ๑.๖๗ ล้านคนจากปีที่แล้ว โดยทำลายสถิติ ๑๐ ล้านคนเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องของโรคระบาด ทำให้ความต้องการแรงงานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลงอย่างมาก จึงทำให้เกิดแรงกดดันต่อการจ้างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัย นอกจากนี้ การปรับปรุงและพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลได้นำไปสู่การเลิกจ้างในโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง ส่งผลให้มีการว่างงานของคนหนุ่มสาว
จากข้อมูลของสำนักสถิติจีน อัตราการว่างงานในเขตเมืองของจีนอยู่ที่ ๖.๑% ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๕ เพิ่มขึ้น ๐.๓% จากเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕ และสถานการณ์การว่างงานยังคงแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานสำหรับผู้มีอายุ ๑๖ - ๒๔ ปีเพิ่มขึ้นเป็น ๑๘.๒% สูงกว่าเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕ ถึง ๒.๒ % และสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ในอดีตจะพบว่าคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุมีแนวโน้มตกงานมาก แต่ในปัจจุบัน คนหนุ่มสาวมีแนวโน้มตกงานมากขึ้น และนักศึกษาที่จบใหม่หางานยากขึ้น
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง จึงได้กล่าวเน้นถึงการรักษาเสถียรภาพของงานในการประชุมคณะรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ ๒๗ เม.ย.๖๕ โดยได้กล่าวถึง "การตัดสินใจเพิ่มนโยบายการรักษาเสถียรภาพของงานและส่งเสริมการจ้างงาน“ (“决定加大稳岗促进就业政策力度”) ต่อมาได้ให้คำแนะนำในการประชุมทางไกลระดับชาติเรื่องการรักษาเสถียรภาพการจ้างงานเมื่อวันที่ ๗ พ.ค.๖๕ โดยชี้ให้เห็นว่า "สถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบันมีความซับซ้อนและรุนแรง" (“当前就业形势复杂严峻”) และในการประชุมคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค.๖๕ นายหลี่ เค่อเฉียง ก็ได้เรียกร้องให้เน้น "นโยบายการเงินและการจ้างงาน" (“财政、货币政策以就业为导向”)
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.rfa.org/mandarin/zhuanlan/jingmaorediansaomiao/econ-05202022171203.html )