bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๘ มิ.ย.๖๒ ทิศทางของโครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ ๘ (ตอนที่ ๔ ว่าด้วยผลงานการวิจัยฝ่ายไทยเรื่อง “นโยบายต่างประเทศไทยต่อความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง”ของ ดร.วิลาสินี พิบูลย์เศรษฐ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง)

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. งานวิจัยเรื่องนี้ ได้กล่าวถึงความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation: LMC) ว่าเป็นหนึ่งในความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย ซึ่งการวิจัยเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายศึกษาความสำคัญของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงและศึกษานโยบายต่างประเทศไทยต่อความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

๒. จากการวิจัยเรื่องดังกล่าวนี้ พบว่า
        ๒.๑ ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงเป็นความร่วมมือที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม แบ่งปันความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและแบ่งปันอนาคตแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยได้นำแนวคิดกลไกความร่วมมือ ๓+๕ (3+5 mechanism of cooperation) มาใช้ ประกอบด้วย ๓ เสาหลักความร่วมมือ ได้แก่ (๑) ด้านการเมืองและความมั่นคง (political and security issues) (๒) การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน (economic and sustainable development) และ (๓) การแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรมและประชาชนสู่ประชาชน (cultural and people-to-people exchanges)
        ๒.๒ ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงยังรวมถึงประเด็นสำคัญหลัก ๕ ประการ ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยง (connectivity) (๒) ความสามารถในการผลิต (production capacity) (๓) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (cross-border economic cooperation) (๔) ทรัพยากรน้ำ (water resources) และ (๕) การเกษตรและการลดความยากจน (agriculture and poverty reduction)
        ๒.๓ กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงได้สร้างความร่วมมือในหลากหลายระดับ ประกอบด้วย การประชุมผู้นำ (leaders' meeting) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ (foreign ministers' meeting) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (senior officials’ meetings) และการประชุมคณะทำงานในสาขาต่าง ๆ (diplomatic working group meetings)
        ๒.๔ นโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับนโยบายต่างประเทศไทยในปัจจุบันที่ได้สนับสนุนนโยบายพหุภาคีนิยม (multilateralism) เน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงเป็นอย่างยิ่ง โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและการประชุมอื่น ๆ รวมถึงการดำเนินการความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ประเทศไทยยังดำเนินนโยบายสร้างความร่วมมือโดยตรงประเทศจีนภายใต้ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

๓. ข้อเสนอแนะแนวทางนโยบายต่างประเทศไทยต่อความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง
        ๓.๑ ส่งเสริมบทบาทและนโยบายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐของไทย ในการสร้างความร่วมมือและประสานนโยบายต่าง ๆ กับความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงและประเทศสมาชิก
        ๓.๒ ผลักดันบทบาทของจังหวัดชายแดนที่ตั้งอยู่ใกล้ริมน้ำโขง เช่น จังหวัดเชียงราย ในการร่วมมือและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโครงสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคของประเทศเพื่อนบ้านกับจังหวัดชายแดนของไทย การอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน การปรับปรุงด่านศุลกากร การพัฒนาระบบดำเนินพิธีการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขนส่งข้ามพรมแดน
        ๓.๓ ผลักดันบทบาทรัฐวิสาหกิจไทยให้เข้าไปลงทุนในประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องทรัพยากรน้ำและการจัดหาพลังงาน
        ๓.๔ ผลักดันบทบาทภาคเอกชนไทยในการเข้าไปแข่งขันและลงทุนในกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขงและขยายการลงทุนไปในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้าง ภาคธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์และภาคธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว
        ๓.๕ เพิ่มความร่วมมือแบบทวิภาคีกับประเทศจีน โดยเฉพาะนำจุดแข็งของจีนด้านเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาประเทศไทย รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งกับจีนจะส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะการดึงดูดนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
        ๓.๖ ส่งเสริมสถาบันวิจัยและหน่วยงานคลังสมอง อาทิ การจัดหาทุนเกี่ยวกับการวิจัย การประชุม การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักวิจัยและนักวิจัยกับผู้กำหนดนโยบาย ผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยเพื่อเสริมการตัดสินใจทางนโยบายแก่ภาครัฐ
       ๓.๗ ผลักดันและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยสนับสนุนดึงดูดให้นักธุรกิจจีนลงทุนในในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในประเทศอาเซียน
       ๓.๘ การส่งเสริมภาคประชาชนและเปลี่ยนภาคประชาชน เช่น การแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมและเข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
       ๓.๙ การผลักดันกลไกและความร่วมมือในระดับพหุภาคีเพื่อนำไปสู่พื้นฐานความร่วมมือและจัดการปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน
       ๓.๑๐ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศกลุ่ม CLMV

บทสรุป
ผลงานการวิจัยเรื่องนี้ ทำให้เข้าใจถึงภาพรวมการดำเนินนโยบายของไทยต่อความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงที่ผ่านมาและสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการวางแผนนโยบาย ส่งเสริมบทบาทของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจและเอกชนมากยิ่งขึ้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. www.vijaichina.com
https://1th.me/Fpkb