bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๙ พ.ย.๖๒ การประชุมเฉพาะกิจว่าด้วยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ระยะ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ (ค.ศ.๒๐๒๑ – ๒๐๒๕ หรือ พ.ศ.๒๕๖๔ – ๒๕๖๘)

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย.๖๒ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานการประชุมเฉพาะกิจ ว่าด้วยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ โดยเน้นประเด็นการทำให้เศรษฐกิจดำเนินไปในขอบเขตที่สมเหตุสมผลและพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ตามแนวคิดการพัฒนาที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยการผลักดันเรื่องสุขภาพและกีฬาไว้ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยชี้ว่า เมื่อถึงปี ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) จีนจะเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีความเข้มแข็งในด้านการกีฬาที่ทันสมัย ประชาชนจะมีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังด้านการกีฬาและอยู่ชั้นแนวหน้าของโลก กีฬาจะกลายเป็นหนึ่งในกิจการฟื้นฟูชนชาติจีนที่ยิ่งใหญ่ เพื่อความเข้มแข็งของประเทศ อีกทั้งยังตอบโจทย์การพัฒนาด้วยการปฏิรูปและความคิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

๒. ข้อสังเกต หากย้อนไปดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ ๑๓ (ค.ศ.๒๐๑๖ – ๒๐๒๐ หรือ พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๓) ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว แผนการเร่งปฏิรูปภาคการเงิน และรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีโลกในระยะยาว ทั้งนี้ ทางการจีนได้เร่งปฏิรูปภาคการเงินมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้ธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ จีนได้วางเป้าหมายที่จะรักษาเสถียรภาพค่าเงิน และเพิ่มบทบาทของหยวนในตลาดการเงินโลก รวมทั้งการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยนับเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิโครงการข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”หรือ “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวเพื่อเชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก รวมทั้งการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ AIIB

บทสรุป
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนตามแผนฯ โดยเฉพาะในฉบับที่ ๑๓ ได้มุ่งทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการบรรลุสู่ความฝันของจีนในการเป็นสังคมที่คนจีนมีกินมีใช้อย่างถ้วนทั่วภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) อันเป็นปีที่สิ้นสุดแผนฯ ฉบับที่ ๑๓ และเป็นปีที่เตรียมฉลองวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พรรคฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ ก.ค. ปี ๑๙๒๑) ซึ่งผลจากการพัฒนาฯ ดังกล่าวของจีน ได้ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการของไทยอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2019-11/26/c_138585180.htm

http://thai.cri.cn/20191127/8e8737b5-7a31-20f7-80d1-74801738c7d8.html

http://www.biztempnews.com/index.php/economics/item/12254

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637293

http://thai.cri.cn/20190903/6e76ac26-9480-270c-b3be-5a805e7baf59.html

http://thai.cri.cn/20190603/1e1dce6a-9806-e674-1308-c7917f57aac4.html

http://english.www.gov.cn/premier/news/201911/26/content_WS5ddd1626c6d0bcf8c4c17d87.html