๑. อำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) อยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับประเทศ ๑ ใน ๖ แห่งของจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อนำร่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้นโยบายข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของไทย จากการที่เหมิ่งล่าอยู่ห่างจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๒๕๐ กม.
๒. เป้าหมายของรัฐบาลระดับท้องถิ่นของมณฑลยูนนานได้ยึดถือนโยบายรัฐบาลกลางในเรื่อง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” เพื่อเชื่อมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ด้วยการแปลงนโยบายส่วนกลางไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยได้แถลง “แผนสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๘ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อำเภอเหมิ่งล่ากลายเป็นพื้นที่รองรับการเชื่อมโยงทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว คมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๓. แนวทางในการดำเนินการเพื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคมเชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใน ๕-๑๐ ปี ทั้งทางน้ำ ทางถนน อากาศ และรถไฟ กล่าวคือ
๓.๑ ทางน้ำ เน้นเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงของสี่ประเทศ (จีน-ลาว-เมียนมา-ไทย) เปิดใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ และเป็นเส้นทางน้ำแห่งเดียวของจีนที่มู่งสู่คาบสมุทรอินโดจีน สิ้นสุดที่อำเภอเชียงแสนของไทย ระยะทาง ๓๕๘ กิโลเมตร รองรับเรือขนาด ๓๐๐ ตัน และมีแผนจะขยายร่องน้ำช่วงจิ่งหง-หลวงพระบาง เพื่อรองรับเรือขนาด ๕๐๐ ตัน โดยปี พ.ศ.๒๕๕๗ เส้นทางน้ำในเขตสิบสองปันนามีปริมาณการขนส่งสินค้า ๒๑๗,๐๐๐ ตัน
๓.๒ ทางถนน เน้นเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) เปิดใช้ตลอดสายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖ โดยช่วงเสี่ยวเหมิ่งหยาง-บ่อหาน ระยะทาง ๑๗๕ กม. อยู่ระหว่างขยายให้เป็นทางด่วน ๔ ช่องทาง
๓.๓ ทางอากาศ เน้นสนามบินสิบสองปันนา มีพื้นที่ ๑๑๐,๐๐๐ ตร.ม. มีรันเวย์กว้างยาวขนาด ๔๕x๒,๔๐๐ เมตร สามารถรองรับโบอิ้ง ๗๖๗ และแอร์บัส ๓๓๐ ปัจจุบัน มีเที่ยวบินภายในประเทศ ๒๑ เส้นทาง และต่างประเทศ ๑ เส้นทาง (ไปหลวงพระบาง บินตรงโดย Lao Airlines) ปี พ.ศ.๒๕๕๘ มีผู้โดยสารเข้าออก ๔.๑๕ ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๓.๕ เครื่องบินขึ้นลง ๓๕,๐๐๐ ลำ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑.๖ และพัสดุ ๘,๐๐๐ ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘.๖
๓.๔ สำหรับทางรถไฟ มีแผนเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากคุนหมิง-บ่อหาน-ลาว-ไทย-สิงคโปร์ ช่วงมณฑลยูนนานจากคุนหมิง-ยวี่ซี มีรถไฟเส้นเก่าซึ่งเป็นระบบรางเดี่ยว ความเร็ว ๑๒๐ กม./ชม. วิ่งอยู่ก่อนแล้ว และเส้นคู่ขนานซึ่งอยู่ระหว่างขยายให้เป็นระบบรางคู่ ความเร็ว ๒๐๐ กม./ชม. ส่วนเส้นทางจากยวี่ซี-บ่อหาน ได้มีพิธีเปิดการก่อสร้างไปเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ ส่วนในลาวก็ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการรถไฟจีน-ลาวแล้วเช่นกันเมื่อ ธันวาคม ๒๕๕๘ โดยคาดว่าทั้งสองเส้นน่าจะสร้างเสร็จในเวลาใกล้เคียงกันคือประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๔
บทสรุป
หากประเทศไทยสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าของจีน กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายของไทย โดยเฉพาะบนสองปลายทางของเส้นทาง R3A จะทำให้ถนนเส้นนี้ เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ทั้งไทยและจีนก็ควรคำนึงถึงความสมดุลจากการพัฒนาเพื่อการได้รับผลประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งไทยและจีน เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีทักษะความชำนาญ และในด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ ซึ่งจีนมีทักษะความชำนาญ เป็นต้น ซึ่งจะได้นำเสนอวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายของจีน ในการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้มณฑลยูนนานผลักดัน “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน”ในตอนต่อไป
ประมวลโดย
พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/interesting-facts/detail.php?SECTION_ID=616&ID=17040
รวมทั้งเว็บไซต์ http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/interesting- facts/detail.php?SECTION_ID=616&ID=17042
เว็บไซต์ของสถานกงสุลไทย ณ นครคุนหมิง
http://www.thaiembassy.org/kunming/th/thai-people/17366-ข้อมูลทั่วไปของมณฑลยูนนาน.html
ตลอดจนเว็บไซต์ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ http://www.cmchamber.com/%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99/
และเอกสารของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน),(๒๕๕๘). พลวัตรของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและนัยต่อประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับบิสซิ่ง จำกัด )