bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๓๑ ม.ค.๖๓ ความเคลื่อนไหวของคณะนักวิจัยจีน จากกรณีการค้นพบยาที่ใช้ในปัจจุบัน ๓ รายการ มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในระดับเซลล์ได้ค่อนข้างดี

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๓๑ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของคณะนักวิจัยจีน จากกรณีการค้นพบยาที่ใช้ในปัจจุบัน ๓ รายการ มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในระดับเซลล์ได้ค่อนข้างดี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๓๐ ม.ค.๖๓ คณะนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Academy of Military Medical Sciences) และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology: WIV) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ได้ค้นพบยาที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ๓ รายการ สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในระดับเซลล์ได้ค่อนข้างดี โดยยาทั้ง ๓ รายการดังกล่าว ได้แก่ (๑) เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เป็นยาที่เคยใช้รักษาโรคอีโบลา (๒) คลอโรควิน (Chloroquine) ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย โรคติดเชื้ออะมีบา และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และ (๓) ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) เป็นยาต้านไวรัส HIV ซึ่งขณะนี้ยาทั้งหมดอยู่ใ
๒. ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (National Health Commission: NHC) ได้แนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวีชื่อ Kaletra หรือที่มีอีกชื่อว่า Aluvia ของบริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง AbbVie ในการนำไปรักษาโรคปอดบวมอันเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัส 2019-nCoV และภายหลังมีผลการทดลองใช้กับผู้ติดเชื้อพบว่า ยาดังกล่าวหยุดการแพร่กระจายของไวรัสไปยังเซลล์อื่นๆ

๓. ข้อสังเกต แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะมีความเห็นว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าการแพร่ระบาดนี้จะใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าจะสิ้นสุดลง แต่เชื่อกันว่าจะรุนแรงน้อยกว่าการแพร่ระบาดครั้งที่ผ่าน ๆ มา กล่าวคือ ในแง่ของอัตราการเสียชีวิต โดยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS เมื่อปี ๒๐๐๓ (พ.ศ.๒๕๔๖) มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ๑๐% ส่วนโรคทางเดินหายใจสายพันธุ์ตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (MERS) เมื่อปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ๓๗% ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับไวรัส SARS-CoV และเมื่อมองย้อนกลับไปยังสมัยที่ไวรัส SARS แพร่ระบาดเมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวใช้เวลาถึงประมาณ ๙ เดือนกว่าที่จะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดนี้อาจใช้เวลาพอๆ กัน หรือไม่ก็น้อยกว่าเพราะเทคโนโลยีการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปไกล

บทสรุป

 
ปัจจุบัน ทางการจีนได้พยายามเร่งพัฒนาวัคซีนสกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยคาดว่า การผลิตตัวอย่างวัคซีนจะใช้เวลาไม่เกิน ๔๐ วัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี mRNA รุ่นใหม่ และขั้นตอนเบื้องต้นอื่น ๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว วงจรการผลิตวัคซีนทั่วไปจะใช้เวลานาน ๕ - ๖ เดือน ในขณะที่วัคซีน mRNA จะมีข้อได้เปรียบจากการพัฒนาและการผลิตที่ใช้เวลาน้อยกว่า ในขณะที่มีนักวิจัยอีกหลายกลุ่มได้ทำการวิจัยด้านต่างๆ ๕ ด้านในช่วงที่ไวรัสโคโรนาเริ่มแพร่ระบาด ได้แก่ (๑) ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจหาโรคได้อย่างรวดเร็ว (๒) ยาหรือวัคซีนต้านไวรัส (๓) การวิจัยสอบทวนแหล่งที่มาจากสัตว์ (๔) สมุฏฐานวิทยาหรือการศึกษาสาเหตุและต้นกำเนิดของโรค และ (๕) การวิจัยด้านระบาดวิทยา โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการคัดเลือกยาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และยาตามแพทย์แผนจีน จำนวน ๓๐ รายการ และตัวยาที่ผ่านการคัดเลือกประกอบด้วยยาต้านเชื้อ HIV ๑๒ รายการ อาทิ Indinavir, Saquinavir, Lopinavir, Carfilzomib และ Ritonavir รวมทั้งยาต้านเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจอีก ๒ รายการ ได้แก่ ยารักษาอาการจิตเสื่อม และยากดภูมิคุ้มกัน ตลอดจนยาดั้งเดิมของจีนเช่น ต้นรากโป่งขมิ้นแห้ง หรือ Polygonum Cuspidatum ฯลฯ ซึ่งมีองค์ประกอบที่อาจควบคุมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ได้ จึงกลายเป็นความคาดหวังที่ทุกคนเฝ้ารอ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์