การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของจีน โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ พบว่าไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหาด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้โดยลำพังฝ่ายเดียว ดังนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จึงได้กล่าวกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ระดับสุดยอดของจีนว่า จีนต้องยืนหยัดเดินหนทางการสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ของจีน หลอมรวมกับการประดิษฐ์คิดสร้างนวัตกรรมของโลก เข้าร่วมการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของโลก ใช้ภูมิปัญญาจีนผลักดันการสร้างมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน และเมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค.๖๑ ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้มีสาสน์ถึงการประชุม AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ของโลกครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่มหานครเซี่ยงไฮ้ โดยย้ำว่า จีนยินดีร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ปกป้องความปลอดภัยของเทคโนโลยี AI และแบ่งปันผลการวิจัยเทคโนโลยี AI
๒. ในระยะเวลาช่วง ๔๐ ปี ที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนได้วางยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์ประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดย
๒.๑ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของชาวจีน ให้มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศ"เทียนเหยี่ยน" หรือ"ดวงตาสวรรค์" ดาวเทียม"หงอคง" ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจสสารมืดในอวกาศ ดาวเทียม "ม่อจื่อ" ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารควอนตัม เรือดำน้ำ "เจียวหลง" รวมทั้งเครื่องบินขนาดใหญ่ รถไฟความเร็วสูง การค้นพบ "น้ำแข็งติดไฟ" ใต้ทะเลหนานไห่ และการปลูกข้าวด้วยน้ำทะเล ตลอดจนวิถีชีวิตใหม่แบบไร้เงินสดของชาวจีน
๒.๒ พบว่าในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ๕๗.๕% มาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกือบจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ว่าให้ถึง ๖๐% ก่อนปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) นอกจากนี้ มีการยื่นขอสิทธิบัตร ๑,๓๘๒,๐๐๐ ราย มากที่สุดในโลกต่อเนื่องกัน ๗ ปี โดยรัฐบาลจีนลงทุนในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ๑.๗๕ ล้านล้านหยวน คิดเป็น ๒.๑๐% ของ GDP มีการลงพิมพ์วิทยานิพนธ์ด้านวิทยาศาสตร์มากเป็นอันดับ ๒ ของโลกติดต่อกัน ๙ ปี และในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๓๕๖๑) จีนเข้าสู่บัญชีรายชื่อประเทศที่มีดัชนีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ๒๐ อันดับแรกขององค์การสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาโลก
๒.๓ ถึงแม้จีนนำหน้าโลกในหลายด้าน แต่เครื่องยนต์เครื่องบิน แผ่นชิปและเทคโนโลยีบางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศยังไม่ทั่วถึง ตัวเลขจากนิตยสาร Nature แสดงว่า ตั้งแต่ปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) เป็นต้นมา ดัชนีการวิจัยระดับพื้นฐานของจีนอยู่อันดับ ๒ ของโลกมาโดยตลอด ซึ่งรองจากสหรัฐฯ แต่ดัชนีของ Nature เป็นเพียง ๑ ใน ๒ ของสหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งนี้แสดงว่า จีนยังคงมีศักยภาพอย่างมากในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม
๓. ข้อสังเกต ในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมเกินความคาดคิดของชาวโลก ทั้งนี้นอกจากจะเกิดจากการดำเนินนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว ยังเกิดจากความขยันของคนจีน ซึ่งความขยันของคนจีนทำให้ประเทศจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ตั้งแต่ครอบครัว สังคมไปจนถึงระดับประเทศ
บทสรุป
จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์กับนวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมาโดยตลอด ในฐานะที่จีนเป็นประเทศใหญ่ โดยจีนยินดีร่วมมือกับวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อสร้างคุณูปการใหม่ให้กับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และการพัฒนาของมนุษยชาติ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงภายในจีน ในยุคภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่มุ่งพัฒนาประเทศจีนให้มีความก้าวหน้าอย่างมากในหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งจีนได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นมหาอำนาจนวัตกรรมโลก ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://gbtimes.com/beijing-willing-to-share-ai-sector-results-with-other-countries-says-xi
http://thai.cri.cn/247/2018/10/03/226s271809.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/10/02/226s271795.htm
https://factordaily.com/china-ai-policy-and-industry/